คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9-10/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอเพิ่มเติมฎีกาภายในอายุความฎีกา ย่อมทำได้ (อ้างคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 199/2496)
ได้ความเพียงว่าคนร้ายสมคบกันมาปล้น ส่วนการฆ่าเจ้าทรัพย์ไม่ได้ความว่าเป็นการคบคิดหรือตระเตรียมกันมาด้วยเจตนาเช่นนั้น หากเป็นเพราะคนร้ายคนหนึ่งถูกเจ้าทรัพย์ใช้ไม้ตี คนร้ายอีกคนหนึ่งจึงใช้ปืนยิงไปเช่นนี้ เป็นการกระทำผิดเพียงฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนอื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น ยังไม่เป็นผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
เหตุเกิดขึ้นในขณะใช้ ก.ม. ลักษณะอาญา และโทษตามความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตาย กำหนดโทษตาม ก.ม.อาญาไม่แตกต่างกัน ย่อมไม่เข้าเกณฑ์ตามประมวล ก.ม.อาญา ม.3

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้รวมพิจารณา โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสำนวนสมคบกับพวกรวม ๖ คน ปล้นทรัพย์ของนายลอยนางติ่งไปรวม ๑๐,๙๔๕ บาท และสบคบกันใช้ปืนยิงนายลอยตายโดยเจตนาฆ่า
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามผิดตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวล ก.ม. อาญา พ.ศ.๒๔๙๙ ม.๓ และประมวล ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๙๙ ม.๓ และ ๓๔๐ ให้จำคุกจำเลยทั้งสามไว้ตลอดชีวิตและให้จำเลยช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาด้วย ส่วนจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าไม่ได้ทำผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่านายพายจำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๓๐๑ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๗ ม. ๗ ให้จำคุกนายพายจำเลยตลอดชีวิตกับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ส่วนนายมั่นนายเสก จำเลยให้ยกฟ้อง
โจทก์และนายพายจำเลยฎีกา
ภายหลังที่โจทก์ยื่นฎีกาแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องฎีกาศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยคัดค้านว่าโจทก์ไม่มีอำนาจเพิ่มเติมฎีกาเพราะขาดอายุความฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า โจทก์เพิ่มเติมฎีกาภายในอายุความฎีกา โจทก์ย่อมทำได้ (อ้างคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ ๑๙๙/๒๔๙๖) และฟังข้อเท็จจริงว่านายพายจำเลย ทำผิดดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ระหว่างฎีกา นายมั่นจำเลยถูกเจ้าพนักงานยิงตาย คดีระงับไปตาม ป.วิ.อาญา ม. ๓๙(๑)
ส่วนคดีเฉพาะตัวนายเสกจำเลย พยานหลักฐานยังไม่พอลงโทษ
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตาย โดยเจตนาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคนร้ายเพียงแต่สมคบกันมาปล้น ส่วนการฆ่าเจ้าทรัพย์ในคดีนี้ เห็นได้ว่าไม่ได้เป็นการคบคิดหรือตระเตรียมกันมาด้วยเจตนาเช่นนั้น หากว่าเพราะคนร้ายคนหนึ่งถูกเจ้าทรัพย์ใช้ไม้ตี คนร้ายอีกคนหนึ่งจึงได้ใช้ปืนยิงไป เป็นการกระทำผิดเพียงฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนอื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น และข้อที่จำเลยควรจะต้องรับโทษตามประมวล ก.ม. อาญา ซึ่งใช้ภายหลังหรือตาม ก.ม. ลักษณะอาญานั้น โดยเหตุที่การทำผิดเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ ก.ม. ลักษณะอาญา และโทษตามความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตาย กำหนดโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญา และประมวล ก.ม. อาญาไม่แตกต่างกัน จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามประมวล ก.ม.อาญา ม. ๓ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share