คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษปรับจำเลยฐานปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมิได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117,118 กับสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่สร้างเพิ่มเติมล่วงล้ำลงไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาภายในกำหนด 1 เดือนแล้ว หากจำเลยขัดขืนไม่ยอมรื้อถอนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ชอบที่จะดำเนินการตามคำสั่งของศาลจัดการรื้อถอนโดยคิดเอาค่าใช้จ่ายในการนั้นแก่จำเลยได้ดังที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา118 บัญญัติไว้ หาใช่มาขอให้ศาลบังคับจำเลยโดยวิธีการอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297,298 ไม่ เพราะมิใช่เป็นการบังคับคดีแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนั้นและมิใช่เป็นการบังคับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน ค่าทดแทนหรือค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 เป็นเรื่องที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะต้องเข้าดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป

ย่อยาว

คดีโจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษปรับจำเลยฐานปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมิได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118 เป็นเงิน 100 บาท กับให้รื้อถอนอาคารที่สร้างเพิ่มเติมล่วงล้ำลงไปในลำน้ำภายในกำหนด 1 เดือน จำเลยได้ทราบคำพิพากษาและคำบังคับเกินกำหนด 1 เดือนแล้วยังไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าว ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยมาสอบถามเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ศาลแขวงธนบุรีพิจารณาคำร้องแล้วสั่งว่า พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 ตอนท้าย บัญญัติว่าถ้าจำเลยขัดขืนไม่ทำตามคำสั่ง ก็ให้เจ้าท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จัดการรื้อถอน โดยคิดเอาค่าใช้จ่ายจากจำเลย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ให้อำนาจเจ้าท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่รื้อถอนเองได้แล้ว คำสั่งศาลที่ให้จำเลยรื้อถอนอาคารเป็นคำสั่งในทางอาญา มิใช่เป็นคำสั่งในทางแพ่ง พนักงานอัยการ (ที่ถูกน่าจะเป็นผู้ร้อง) ไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องที่จะขอให้เรียกจำเลยมาเพื่อสั่งให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ จึงให้ยกคำร้องเสีย

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกาต่อมาว่า วิธีการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 นั้น น่าจะปฏิบัติควบคู่ไปกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297, 298 ขอให้ศาลฎีกาสั่งศาลแขวงธนบุรีรับคำร้องของผู้ร้องดำเนินการต่อไป

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 นี้ก็ให้ศาลในคดีอาญามีอำนาจบังคับให้ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยรื้อถอนอาคารที่สร้างเพิ่มเติมล่วงล้ำลงไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับคดีต่อไปไว้ด้วยว่า ถ้าและจำเลยขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งให้รื้อถอนนั้น ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการรื้อถอนโดยคิดเอาค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนจากจำเลย ดังนั้น เมื่อศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษปรับจำเลยและสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่สร้างเพิ่มเติมล่วงล้ำลงไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาภายในกำหนด 1 เดือนจำเลยขัดขืนไม่ยอมรื้อถอนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ก็ชอบที่จะดำเนินการตามคำสั่งของศาลแขวงธนบุรีดังที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2456 บัญญัติไว้ หาใช่มาขอให้ศาลบังคับจำเลยโดยวิธีการอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297, 298 ไม่ เพราะมิใช่เป็นการบังคับคดีแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนั้น และมิใช่เป็นการบังคับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน ค่าทดแทนหรือค่าธรรมเนียม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานจะต้องเข้าดำเนินการตามคำสั่งของศาล ถ้าจำเลยขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งให้รื้อถอนนั้น ก็ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการรื้อถอนโดยคิดเอาค่าใช้จ่ายจากจำเลย ไม่เกี่ยวโยงไปถึงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและความอาญาแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

Share