แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 202 กรณีเช่นนี้แม้มาตรา 203 มิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวคือต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามาตรา 203 เท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลา 9 นาฬิกา ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและทนายโจทก์ทั้งสองทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณา ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
วันที่ 20 มีนาคม 2545 ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่าในวันที่ 15 มีนาคม 2545 ทนายโจทก์ทั้งสองต้องไปว่าความที่ศาลจังหวัดปัตตานี จึงมอบฉันทะให้นายวิชิต บุญรอด นำคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ทั้งสองมายื่นต่อศาล นายวิชิตตรวจใบนัดความของศาลไม่พบหมายเลขคดีนี้มีนัดพิจารณาในวันดังกล่าวจึงไปสอบถามที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าศาลนัดพิจารณาคดีนี้ในเวลา 13.30 นาฬิกา ที่ห้องพิจารณาที่ 12 เมื่อนายวิชิตไปที่ห้องพิจารณาดังกล่าวในเวลา 13.30 นาฬิกา ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว เนื่องจากนายวิชิตไม่เข้าใจระบบและวิธีปฏิบัติของศาลจึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลในวันดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ถ้าโจทก์ทั้งสองต้องการดำเนินคดีแก่จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ ไม่มีเหตุที่ศาลจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานในวันที่ 3 ธันวาคม 2544 เวลา 13.30 นาฬิกา ทนายโจทก์ทั้งสองและทนายจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีประเด็นยุ่งยาก จึงให้งดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลา 9 นาฬิกา ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน ทนายโจทก์ทั้งสองและทนายจำเลยต่างลงลายมือชื่อทราบวันนัด ถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบวันนัดโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ทั้งสองออกจากสารบบความดังกล่าว หาใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงหรือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาได้ดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกา กรณีเช่นนี้แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 203 จะมิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสองจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ คดีนี้เมื่อโจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์ทั้งสองมีอยู่ทางเดียว คือต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามมาตรา 203 เท่านั้น ไม่อาจร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.