คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์อ้างเหตุแห่งความเสียหายไว้ 2 ประการคือ ค่ารักษาพยาบาลประการหนึ่ง กับค่าเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บจนไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้อีกประการหนึ่ง แต่โจทก์รวมยอดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนเข้าด้วยกันเป็นเงิน 100,000 บาทและจำเลยให้การปฏิเสธเฉพาะค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการรักษาพยาบาลจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยยอมรับ ว่าโจทก์ต้องสิ้นเงินในการรักษาพยาบาลจริงศาลชั้นต้นจึงกำหนดจำนวนเงินที่โจทก์ ต้องเสียไปเนื่องจากการรักษาพยาบาลได้ มิใช่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 โจทก์นั่งรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลย ซึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางขุขันธ์-บ้านปะอุงจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถตกลงข้างถนนโจทก์ตกจากรถได้รับบาดเจ็บขาขวาท่อนบนหักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วยังต้องเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์เป็นระยะจนกว่าจะหายขาดและผ่าตัดเอาเหล็กที่ดามกระดูกออก โดยไม่สามารถประกอบการงานอาชีพตามปกติได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือน รวมค่าเสียหาย100,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,130 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น101,130 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 101,130 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง ความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถประกอบการงานตามปกติของโจทก์มีไม่ถึง 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าโจทก์ต้องเสียหายจากการรักษาพยาบาลเป็นเงินเท่าใด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ได้อ้างเหตุแห่งความเสียหายไว้ 2 ประการ คือ ค่ารักษาพยาบาลประการหนึ่ง กับค่าเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บจนไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้อีกประการหนึ่งโดยโจทก์รวมยอดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนเข้าด้วยกันเป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธเฉพาะค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการรักษาพยาบาลนั้น จำเลยมิได้ปฏิเสธอย่างใด กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ต้องสิ้นเงินในการรักษาพยาบาลจริงศาลชั้นต้นจึงกำหนดจำนวนเงินที่โจทก์ต้องเสียไปเนื่องจากการรักษาพยาบาลได้กรณีจึงมิใช่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง”
พิพากษายืน

Share