คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6266/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลสั่งปรับผู้ประกันให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ในขณะที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการบังคับคดี ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 โดยให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 กำหนดให้อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนับแต่วันดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องตรวจสอบสำนวนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีทั้งหมด และปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างการพิจารณาที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก ประกอบกับคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ นับแต่ผู้ร้องมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเมื่อสิ้นระยะเวลาบังคับคดีแล้วเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ ก็เป็นเพราะมีสำนวนค้างการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก ผู้ร้องจึงไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ตามที่นัดไว้ต่อศาล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันเป็นเงิน 300,000 บาท วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ศาลชั้นต้นมีคำบังคับส่งไปยังผู้ประกัน ให้ผู้ประกันชำระค่าปรับแก่ศาลชั้นต้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำบังคับ ผู้ประกันไม่ชำระ วันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดมีนบุรีเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี จัดการยึดทรัพย์สินของผู้ประกันหรือทำการอื่นใดโดยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับแก่ศาล วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรี ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2548
วันที่ 9 กันยายน 2552 ผู้ประกันยื่นคำร้องว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ก่อนหน้านั้นเป็นอำนาจพนักงานอัยการที่จะดำเนินการบังคับคดีตามสัญญาประกัน ซึ่งสามารถร้องขอให้บังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2538 เป็นต้นมา แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีแต่อย่างใดนับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปี การที่พนักงานอัยการมิได้ดำเนินการบังคับคดีตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจของตนถึง 9 ปีเศษ และต่อมาการบังคับคดีอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีเช่นกัน การเพิกเฉยของพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรีถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของทั้งสองหน่วยงาน การบังคับคดีแก่ผู้ประกันจึงไม่อาจทำได้ เนื่องจากล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เหตุที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรีอ้างว่า เมื่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่มีผลใช้บังคับ มีผลให้การบังคับคดีเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาลเพิ่มขึ้นจากหลักการเดิม และถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่อาจร้องขอขยายระยะเวลาได้ก่อนสิ้นระยะเวลา อีกทั้งผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรีสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาการบังคับคดีได้เพราะสำนวนคดีอยู่ในอำนาจของตนเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ก่อนสิ้นระยะเวลาการบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งยุติการบังคับคดีแก่ผู้ประกัน และคืนหลักทรัพย์อันได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 375 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร และโฉนดที่ดินเลขที่ 7379 ตำบลทับยาว (ลำต้อยติ่ง) อำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ประกัน และให้มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดกระบัง เพื่อถอนอายัดหลักประกันด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ประกัน
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ประกัน และให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งถอนการอายัดหลักประกันไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ผู้ประกันไม่ชำระค่าปรับ วันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลชั้นต้นเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดทรัพย์สินของผู้ประกันหรือทำการอื่นใดโดยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับศาล โดยครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ในวันที่ 21 มีนาคม 2548
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีก่อนสิ้นระยะเวลาการบังคับคดี ผู้ร้องจะยื่นคำร้องได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย เห็นว่าเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยในขณะที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการบังคับคดีจากผู้ประกัน ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกัน ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 โดยให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 ว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดี มีอำนาจออกหมายบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามสัญญาประกันได้เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าว และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ดังนี้ อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันจึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องนับแต่วันดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องตรวจสอบสำนวนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีทั้งหมด และปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างการพิจารณาที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก ประกอบกับคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ นับแต่ผู้ร้องมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเมื่อสิ้นระยะเวลาบังคับคดีแล้วเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ ก็เป็นเพราะมีสำนวนค้างการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก ผู้ร้องจึงไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลาได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลาการบังคับคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ส่วนฎีกาของผู้ร้องในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ประกัน

Share