แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยทำซ้ำโดยถ่ายเอกสารงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้หลายชุดแล้วเก็บไว้ที่ร้านค้าของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือของโจทก์ร่วมและมีโอกาสที่จำเลยจะขายเอกสารที่ทำซ้ำขึ้นแก่นักศึกษาได้สะดวก เป็นการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยการถ่ายสำเนาเอกสารจำนวน 43 ชุดไว้เพื่อขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายอันเป็นการที่จำเลยทำซ้ำขึ้นเองเพื่อการค้าและแสวงหาประโยชน์จากการขายสำเนางานที่จำเลยทำซ้ำขึ้นมา มิใช่การรับจ้างถ่ายเอกสารจากนักศึกษาที่ต้องการได้สำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำไปใช้ในการศึกษาวิจัยอันเป็นเหตุยกเว้นมิให้ถือว่าการทำซ้ำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32(1) แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้เสียหายทั้งสามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมหนังสือรวมห้าเล่ม โดยหนังสือทั้งห้าเล่มดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีด้วยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมของผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าวโดยการทำสำเนาด้วยเครื่องถ่ายเอกสารจากต้นฉบับหนังสือทั้งห้าเล่มของผู้เสียหายดังกล่าวบางบท อันเป็นการทำซ้ำเพื่อการค้าในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสาม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 61, 69, 75, 76, 78ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และให้เอกสารอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 43 ชุด ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบเครื่องถ่ายเอกสารของกลางจำนวน 3 เครื่องกับให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมหนังสือ 5 เล่มตามฟ้อง จำเลยประกอบกิจการรับจ้างถ่ายเอกสาร เย็บเล่มและเข้าปกหนังสือมีสถานประกอบการอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยดังกล่าวใช้หนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามในการให้การศึกษาแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย จำเลยได้ทำซ้ำงานบางส่วนของหนังสือทั้งห้าเล่มโดยจัดทำเป็นเอกสารจำนวน 43 ชุด ปรากฏตามรายการชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ชื่อหนังสืออันเป็นงานวรรณกรรม จำนวนบททั้งหมดของหนังสือ จำนวนบทที่จำเลยทำซ้ำและจำนวนชุดที่จำเลยทำซ้ำเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1งานวรรณกรรมอันเป็นวัตถุที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 5 เล่มและบัญชีของกลางคดีอาญา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามว่า การที่จำเลยทำซ้ำงานวรรณกรรมหนังสือ 5 เล่มของโจทก์ร่วมแต่ละคนนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า โดยไม่มีเหตุอันเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 หรือไม่ โจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์ว่าการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสาม มิใช่การรับจ้างทำซ้ำโดยถ่ายสำเนาเอกสารจากนักศึกษาที่ว่าจ้างจำเลยให้ทำซ้ำขึ้นเพื่อการศึกษาวิจัยโดยไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ร่วมทั้งสาม และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร อันถือเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีนายสุรชัย สิริวัฒนาพาทเบิกความเป็นพยานว่า พยานได้รับมอบอำนาจช่วงจากนางจริยา เปรมปราณีรัชต์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งสาม ให้พยานมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสาม ก่อนที่จะมีการจับกุมจำเลย พยานสืบทราบการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจจนมีการจับกุมจำเลย โดยพยานได้ร่วมไปกับเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจค้นจับกุมจำเลยด้วย และในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจค้นจับกุมจำเลยนั้น นายสุรชัยกับร้อยตำรวจตรีชวลิต ชวลิตพงศ์พันธุ์ เจ้าพนักงานตำรวจที่ไปตรวจค้นจับกุมจำเลยก็เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันที่ 3 ธันวาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอหมายค้นจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและไปตรวจค้นที่ร้านค้าของจำเลย พบเอกสารที่มีการทำซ้ำโดยการถ่ายสำเนาหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสามรวม 43 ชุดตามเอกสารหมาย จ.23 จำเลยรับว่ามีเอกสารดังกล่าวไว้เพื่อขายแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป นายสุรชัยจึงยืนยันให้ร้อยตำรวจตรีชวลิตจับกุมจำเลย ร้อยตำรวจตรีชวลิตแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขาย จำเลยให้การรับสารภาพ จึงยึดเอกสารที่ทำซ้ำตามเอกสารหมาย จ.23ทั้ง 43 ชุด พร้อมด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร 3 เครื่อง ซึ่งจำเลยรับว่าได้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าวในการถ่ายเอกสารที่ทำซ้ำตามเอกสารหมาย จ.23 เป็นของกลางและทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมไว้ตามเอกสารหมาย จ.25 และโจทก์กับโจทก์ร่วมทั้งสามยังมีพันตำรวจตรีหญิงสมจิตร สาคร พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า ชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า โดยการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อขาย เสนอขายหรือมีไว้เพื่อขาย จำเลยให้การรับสารภาพและจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยประกอบอาชีพรับจ้างถ่ายเอกสารมา 3 ปี ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมได้ทำมาแล้ว 1 เดือนเศษ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.29 จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าว เห็นได้ว่า จำเลยทำซ้ำโดยถ่ายเอกสารงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามไว้หลายชุดแล้วเก็บไว้ที่ร้านค้าของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสาม พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมมีโอกาสที่จำเลยจะขายเอกสารที่จำเลยทำซ้ำขึ้นมาดังกล่าวแก่นักศึกษาได้สะดวกทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลย ซึ่งกระทำในวันเดียวกัน จำเลยก็ให้การรับสารภาพว่าทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขาย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามสอดคล้องต้องกันและมีเหตุผล มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.23 โดยการถ่ายสำเนาเอกสารจำนวน 43 ชุดไว้เพื่อขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขาย อันเป็นการที่จำเลยทำซ้ำขึ้นเองเพื่อการค้าและแสวงหาประโยชน์จากการขายสำเนางานที่จำเลยทำซ้ำขึ้นมา มิใช่การรับจ้างถ่ายเอกสารจากนักศึกษาที่ต้องการได้สำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำไปใช้ในการศึกษาวิจัย อันเป็นเหตุยกเว้นมิให้ถือว่าการทำซ้ำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32(1) แต่อย่างใดที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทำซ้ำงานดังกล่าวตามที่ได้รับการว่าจ้างจากนักศึกษาให้ถ่ายเอกสารให้นั้น หากเป็นจริงและจำเลยมีหลักฐานเกี่ยวกับการรับจ้างถ่ายเอกสารจากนักศึกษาตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 จริง ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยย่อมสามารถให้การปฏิเสธโดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวพร้อมทั้งแสดงหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนได้ทันที แต่จำเลยหาได้กระทำไม่ กลับให้การรับสารภาพตลอดมาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และเพิ่งจะนำเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 มาอ้างเป็นหลักฐานในภายหลังเมื่อถูกฟ้องคดีนี้แล้วอันเป็นข้อพิรุธ ทั้งข้อความตามเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับการรับจ้างนักศึกษาถ่ายเอกสารที่จำเลยทำซ้ำขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไรนอกจากนี้จำเลยยังไม่สามารถนำผู้ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยให้ถ่ายเอกสารมาเบิกความเป็นพยานจำเลยได้แม้แต่รายเดียว คงมีแต่คำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยเพียงปากเดียว จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 27(1), 69 วรรคสอง ให้ปรับจำเลย 100,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 67,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำเนาหนังสือของกลางที่เกิดจากการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมแต่ละคนให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนเครื่องถ่ายเอกสารของกลาง 3 เครื่องให้ริบ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์