คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้ ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภารติดพันโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้และหากถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บเงินของโจทก์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 7 กันยายน 2536 โจทก์ให้ที่ดินเป็นนาและสวน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 39 บ้านคอกช้าง ตำบลบางพระเหนืออำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา และที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ในแนวเขตครอบครองเดียวกันกับที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ10 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 18 ไร่ แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่โจทก์ยกให้แก่จำเลยตลอดชีวิตของโจทก์ครั้นต่อมาประมาณต้นเดือนธันวาคม 2538 จำเลยเนรคุณโดยห้ามโจทก์ไม่ให้เข้าไปในนาและสวน ทำให้โจทก์อยู่อย่างยากไร้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 39 ตำบลบางพระเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง และส่งมอบที่ดินที่อยู่ในแนวครอบครองเดียวกันกับที่ดินดังกล่าวรวมเนื้อที่ 18 ไร่ คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้โจทก์ไปจัดการจดทะเบียนโอนต่อไปโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการจดทะเบียนโอนทั้งสิ้น หากจำเลยไม่สามารถโอนและส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงได้ ให้ชดใช้เงินแทน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2534 โจทก์กู้เงินไปจากนางชีพล่องแดง ภริยาของจำเลยเป็นเงินจำนวน 90,000 บาท ครบกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2535 โดยโจทก์นำหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว และที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ในแนวเขตครอบครองเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มามอบให้แก่นางชีพเป็นประกัน โจทก์ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืน ต่อมาโจทก์ตกลงยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ตามแนวเขตครอบครองกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 18 ไร่ แก่จำเลยเพื่อเป็นการปลดหนี้หรือชำระหนี้ให้แก่ภริยาของจำเลย ภายหลังโจทก์ยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่จำเลย จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ วันที่ 7 กันยายน 2536 โจทก์จดทะเบียนการให้แก่จำเลย แต่โจทก์มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต จำเลยไม่เคยประพฤติเนรคุณกับโจทก์ ทั้งไม่เคยถือมีดพร้าขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดิน หรือด่าว่าโจทก์แต่อย่างใด หากแต่จำเลยและครอบครัวของจำเลยใช้เงินช่วยเหลือจุนเจือแก่โจทก์และรักษาพยาบาลโจทก์ตลอดมา จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์โอนที่ดินจำนวน2 แปลงให้แก่จำเลยในคราวเดียวกัน โดยที่ดินแปลงแรกเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 39 เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา โจทก์ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยยอมจดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต ส่วนที่ดินแปลงที่สองเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งมีเขตติดต่อกัน โจทก์โอนให้แก่จำเลยโดยการส่งมอบการครอบครองพร้อมกับที่ดินแปลงแรก มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ที่ดินทั้งสองแปลงเพราะเหตุเนรคุณหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลยโดยเสน่หา โดยจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินตลอดชีวิต แต่จำเลยเนรคุณข่มขู่โจทก์ ไม่ให้โจทก์เข้าไปเก็บกินหรือทำประโยชน์ใด ๆ ในที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีสิทธิขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535 บัญญัติว่า การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ (1)…(2)… ให้สิ่งที่มีค่าภารติดพัน (3)… การที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้นั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฎีกา ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภารติดพันโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเนรคุณ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปเก็บกินในที่ดินพิพาท หากโจทก์ถอนคืนการให้ไม่ได้ย่อมไม่เป็นธรรมและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า เป็นความเข้าใจของโจทก์เอง ซึ่งไม่อาจลบล้างบทบัญญัติของกฎหมายได้ หากโจทก์ถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บกินของโจทก์ได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share