คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1655/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยจะต้องมีหลักฐานตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดมานำสืบ จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยและน้องของจำเลยเป็นพยาน ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง สัญญากู้ยืมเงินก็ยังคงอยู่ที่โจทก์และยังไม่มีการแทงเพิกถอน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้นำสืบการใช้เงินตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงิน 130,000 บาท ไปจากโจทก์ ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงิน 260,000 บาท ไปจากโจทก์ ตกลงเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2539 โดยจำเลยได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 48088 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ครั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญาจำเลยไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 748,203 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 390,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเพราะในการกู้ยืมเงินนั้นได้ตกลงกันว่าเมื่อจะกู้ยืมเงินใหม่จะต้องชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาครั้งก่อนให้เสร็จสิ้น หากยังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาครั้งก่อนโจทก์จะไม่ยอมให้กู้ยืมเงินอีก อีกทั้งหากจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็จะต้องนำคดีมาฟ้องในคราวเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 1153/2543 หรือในคราวเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 2030/2542 เพราะสัญญาเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยผิดนัดเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้นจำเลยได้ขอให้โจทก์ทำลายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินซึ่งอยู่ที่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจะทำลายให้ทุกครั้ง แต่โจทก์กลับนำหนังสือกู้ยืมดังกล่าวซึ่งยังมิได้ฉีกทำลายมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2539 และของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป จนถึงวันชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 และวันที่ 11 พฤษภาคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 100,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับโดยทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับดังกล่าวครบถ้วนแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับแล้ว จำเลยจะต้องมีหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนดมานำสืบ คดีนี้จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยและนางปรางค์ศรี เหลืองขมิ้น น้องของจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับแล้ว เพราะทางปฏิบัติต้องชำระหนี้ตามสัญญาเดิมก่อนโจทก์จึงจะให้กู้ใหม่ หลังจากจำเลยชำระหนี้แล้วโจทก์บอกว่าจะฉีกทำลายสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง โดยสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ยังคงอยู่ที่โจทก์และยังไม่มีการแทงเพิกถอนในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องห้ามมิให้นำสืบการใช้เงินตามบทกฎหมายดังกล่าว คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับแก่โจทก์ดังที่กล่าวอ้างมา ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share