คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันของค่าจ้างที่เป็นค่านายหน้าจากการขายไปจนกว่าจะชำระเสร็จ อันเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 ซึ่งขณะยื่นฟ้องโจทก์ทราบถึงสิทธิในข้อนี้อยู่แล้วและคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี โจทก์ฟ้องเรียกค่านายหน้าจากการขายจากจำเลย จำเลยให้การว่าค่านายหน้าที่โจทก์เรียกมา 8,103.55 บาท นั้น จำเลยขอปฏิเสธความจริงจำเลยค้างชำระอยู่เพียง 2,722.29 บาท ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธจำนวนค่านายหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยยังมิได้รับชำระราคาสินค้า จึงอยู่ในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้เป็นนายจ้าง จ่ายค่าจ้างค้างชำระค่านายหน้าและเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าค่านายหน้าที่โจทก์เรียกมา 8,103.55 บาท จำเลยขอปฏิเสธ ความจริงค้างชำระเพียง 2,722.29 บาท โจทก์ละทิ้งงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมเป็นเงิน 6,380.38 บาท และค่านายหน้าเป็นเงิน 2,922.29 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเงินค่านายหน้าจากการขายสินค้าซึ่งถือว่า เป็นค่าจ้างอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา180 วรรคสอง(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 โจทก์ขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันของค่าจ้างที่เป็นค่านายหน้าจากการขายจำนวน8,103.55 บาท ที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2531 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 ซึ่งขณะยื่นฟ้องโจทก์ทราบถึงสิทธิในข้อนี้อยู่แล้วชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำร้องดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์นั้น ชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่านายหน้าจากการขายจากจำเลยเป็นเงิน 8,103.55 บาท แต่จำเลยให้การเพียงว่า จำเลยค้างชำระค่านายหน้าแก่โจทก์เป็นเงิน 2,722.29 บาท โดยมิได้ให้การว่าเหตุใดจำเลยจึงค้างชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ตามจำนวนดังกล่าวทั้งมิได้ให้การถึงจำนวนค่านายหน้าที่แตกต่างจากฟ้อง คำให้การของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคสอง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายเฉพาะราคาสินค้าซึ่งจำเลยได้รับชำระราคาส่วนสินค้าที่ลูกค้ายังมิได้ชำระราคา โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าและนอกจากนี้เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบ จำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงความข้อนี้ ข้อนำสืบของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามข้อนำสืบของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธจำนวนค่านายหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์โดยชอบแล้ว ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยยังมิได้รับชำระราคาสินค้า จึงอยู่ในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ ส่วนการที่จำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ก่อนก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้คัดค้านไว้ในขณะที่จำเลยสืบพยาน จึงไม่ต้องห้ามที่จะรับฟังพยานจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำขอนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน2531 ขอแก้ไขคำฟ้อง และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วนั้นโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสะสมและค่านายหน้าให้แก่โจทก์แต่จำเลยมิได้จ่าย จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share