คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้า ไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิจำเลย จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามี และต้องการทนายความหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ มีการดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสองก็ตามจำเลยก็ยกขึ้นอ้างให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้และกรณีเช่นว่านี้จำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน และปรับ6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก2 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเป็นสมควร รวม 30 ชั่วโมง คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษและริบของกลาง โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าการที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลทนายความให้คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีและต้องการทนายความหรือไม่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิจำเลย เมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสองก็ตาม จำเลยก็ยกขึ้นอ้างให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้จำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

Share