คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายและโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เมื่อศาลใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาแน่นอน และคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้ว หนี้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ในอนาคต แต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระทันที จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของ น.ส.สมพร จันทกุลผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0475 ร้อยเอ็ดของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทพุ่งชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่อย่างแรงเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายได้รับความเสียหาย และผู้ตายถึงแก่ความตายทันที โจทก์ทั้งสองขาดรายได้จากการที่ผู้ตายส่งเงินอุปการะเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 15 ปีเป็นเงิน 350,000 บาท ค่าจัดการศพจำนวน 54,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์จำนวน 320 บาท ค่าเสียใจจำนวน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 454,320 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทผู้ตายสามารถอุปการะโจทก์ทั้งสองปีละไม่เกิน 3,000 – 4,000 บาทค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียใจขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 200,273 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเหมาะสมและสมควรแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ในอนาคต จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับผิดในดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาแน่นอนและคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งให้จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์แล้วหนี้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่หนี้ในอนาคต แต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
พิพากษายืน.

Share