แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นคำร้องและลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวน โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดหาหลักประกันเมื่อไม่มีกฎหมายบังคับว่าหลักประกันต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกันแต่ผู้เดียว การที่จำเลยที่ 2 จัดหาหลักประกันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมให้นำมาวางต่อโจทก์โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ มิได้แปลว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องและทำสัญญาประกันในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันในนามของจำเลยที่ 2 เองด้วย สัญญาประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันต่อโจทก์
การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ในวันนัดส่งตัว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับได้นับแต่วันดังกล่าว แต่จะถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระเบี้ยปรับนับแต่วันนั้นหาได้ไม่ สัญญาประกันมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ดังกล่าวต่อกันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาชำระหนี้ก่อนหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจหน้าที่สอบสวนและให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ในความควบคุมของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 82403 ไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวนายบุญยังหรือบุญช่วย พุฒสาคร ผู้ต้องหาซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันให้ไว้แก่โจทก์ สัญญาว่าถ้าจำเลยทั้งสองไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดจะยอมใช้เงิน 240,000 บาท โจทก์จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไป แต่เมื่อถึงกำหนดนัดส่งตัวในวันที่ 2 สิงหาคม 2542 จำเลยทั้งสองไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย เพราะเหตุผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2542 ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 47,539.73 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 287,539.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 287,539.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 82403 ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ของจำเลยที่ 1 และหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 ไปยื่นคำร้องขอประกันตัวนายบุญยังหรือบุญช่วย พุฒสาคร ผู้ต้องหาซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรต่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันให้ไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยที่ 2 ยินยอมใช้เงิน 240,000 บาท โดยวางโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันตามคำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดที่โจทก์นัดในวันที่ 2 สิงหาคม 2542 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญาแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาประกันต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 และมาตรา 114 การขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกันนั้นต้องประกอบด้วยผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวประการหนึ่ง และผู้ร้องขอประกันได้จัดหาหลักประกันมาอีกประการหนึ่ง คดีนี้ปรากฏชัดตามคำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอประกันและลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องจัดหาหลักประกัน เมื่อไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าหลักประกันนั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกันแต่ผู้เดียว การที่จำเลยที่ 2 จัดหาหลักประกันเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 82403 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมให้นำมาวางต่อโจทก์โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ หาได้แปลว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่ แต่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันในนามของจำเลยที่ 2 เองด้วย มิฉะนั้นจำเลยที่ 2 ก็ควรจะต้องระบุไว้ในคำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 ด้วยว่าทำแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น สัญญาประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นวันนัดส่งตัว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับได้นับแต่วันดังกล่าว แต่จะถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระเบี้ยปรับนับแต่วันนั้นหาได้ไม่ สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 มิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ดังกล่าวต่อกันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ก่อน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ว่า โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2542 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2542 เป็นต้นไป การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดนับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2542 ตามคำขอของโจทก์ จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมากกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 240,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ