แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมได้อ่านคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับให้คู่ความฟังแล้ว จึงให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าสำนวน และที่หน้าสำนวนระบุข้อความของคำบังคับไว้ว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงนามในฐานะเป็นผู้ออกคำบังคับ ข้อความที่ระบุไว้ที่หน้าสำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งคำบังคับไปยังจำเลยแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับซ้ำอีก
โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี แม้ท้ายคำขอระบุยอดหนี้คำนวณถึงก่อนยื่นคำขอ 1 วัน ก็ไม่ถือว่าโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอม คำขอดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 289,692,959.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 194,131,047.74 บาท และอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงิน 24,846,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 และดอกเบี้ยอัตราที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีประเภทเงินกู้ (MLR) ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 15.50 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและจำเลยทั้งสองยินยอมชำระหนี้ให้โจทก์เต็มตามคำขอท้ายฟ้องและให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินที่จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนหมายบังคับคดีและงดการบังคับคดีไว้ก่อน เนื่องจากคำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์เป็นคำขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะยังไม่ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งในคำขอให้ออกหมายบังคับคดีโจทก์ระบุความรับผิดในหนี้ของจำเลยทั้งสองไม่ตรงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่จะยกเลิกเพิกถอนคำสั่งที่ออกหมายบังคับคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงได้ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า คำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโจทก์ยังมิได้ขอและส่งคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษานั้น เห็นว่า ตามหน้าสำนวนของคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและได้อ่านคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับในคดีเรื่องนี้ให้คู่ความฟังแล้วจึงได้ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าสำนวนครบถ้วน และที่หน้าสำนวนดังกล่าวยังได้ระบุข้อความของคำบังคับไว้ว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงนามในฐานะเป็นผู้ออกคำบังคับ และโจทก์กับจำเลยต่างได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำบังคับดังกล่าวแล้ว ตามข้อความดังกล่าวที่ระบุว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมมีความหมายว่า ศาลมีคำบังคับกำหนดรายละเอียดให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเอง ส่วนข้อความต่อไปที่ว่ามิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมายนั้น ย่อมมีความหมายว่าหากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับภายในระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้จำเลยทั้งสองจะต้องถูกบังคับคดีโดยการถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับและจำขังนั่นเอง ข้อความที่ระบุไว้ที่หน้าสำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว เมื่อศาลได้มีคำบังคับดังกล่าวในวันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอม และโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีการส่งคำบังคับไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับซ้ำอีก ที่จำเลยที่ 2 อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างจำเลยที่ 2 นั้น ก็ปรากฏว่าข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าศาลยังมิได้ออกและส่งคำบังคับให้จำเลยปฏิบัตินั้นฟังไม่ขึ้น ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างมาในอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า คำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากระบุความรับผิดของจำเลยทั้งสองไม่เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าคำขอดังกล่าวได้ระบุโดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดของสัญญาประนีประนอมยอมความครบทุกข้อตรงตามรายละเอียดที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามคำพิพากษา จึงถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุโดยชัดแจ้งซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดีตามนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 แล้ว แม้ข้อความตอนท้ายในคำขอของโจทก์ที่ระบุยอดหนี้คำนวณถึงก่อนวันยื่นคำขอ 1 วัน คือวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ว่า จำเลยแต่ละคนค้างชำระหนี้เพียงใดก็เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ต้องการแยกให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนมีภาระหนี้ที่ค้างชำระคำนวณจนถึงขณะที่โจทก์ยื่นคำขอเป็นจำนวนเท่าใด ไม่ถือว่าโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอม และเมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ก็ปรากฏว่าในหมายบังคับคดีระบุข้อความให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยศาลได้แนบรายละเอียดที่ต้องมีการบังคับคดีตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความไปด้วย ดังนั้น คำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ดี หรือหมายบังคับคดีที่ศาลได้ออกก็ดี ล้วนทำขึ้นตรงตามรายละเอียดในคำพิพากษาตามยอมทั้งสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีหรืองดการบังคับคดีตามที่จำเลยที่ 2 ร้องขอแต่ประการใด ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ