คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย” เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ถมดิน ซึ่งย่อมมีความหมายรวมถึงให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบออกไปได้ด้วย ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ถมดิน ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐภายในทะเลสาบสงขลา บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำการถมดินและตอกเสาเข็มขนาดกว้างประมาณ 60 เมตร ยาวประมาณ 116 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ (6,632 ตารางเมตร) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 3, 117, 118, 118 ทวิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 99 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 360 และให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปภายใน 30 วัน
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณากรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและก่อสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนคิดเป็นเนื้อที่ถึง 6 ไร่เศษ เป็นการกระทำที่เห็นประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เข้าองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายดังกล่าวได้ และที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้น เมื่อศาลลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว จึงไม่อาจอาศัยบทโทษเบาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือน เมื่อลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงไม่อาจอาศัยบทที่มีโทษเบาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาบังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตามที่โจทก์ขอได้ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ ข้อหาอื่นยกให้
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แล้ว ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ ออกไปด้วยหรือไม่ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ถมดิน ซึ่งย่อมมีความหมายรวมถึงให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาออกไปได้ด้วย ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า เมื่อลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว จึงไม่อาจอาศัยบทที่มีโทษเบาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาบังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตามที่โจทก์ขอได้ และให้ยกคำขอในส่วนนี้นั้นไม่ถูกต้อง เพราะการให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลา มิได้อาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 ทวิ ใช้บังคับแต่อย่างใด หากแต่เป็นการบังคับตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 วรรคสี่ ดังที่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบสงขลาออกไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share