คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5532/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาข้อ 8 ที่ว่า “เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา…” มีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขยายอายุความ
ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ การที่โจทก์นำหนี้ที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยขอใช้บริการสินเชื่อและทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏกับโจทก์ เพื่อเบิกเงินเกินบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเป็นเงิน 71,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หลังจากทำสัญญาสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่โอนเงินเดือนของจำเลยเข้าบัญชีออมทรัพย์และจำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวหลายครั้งปรากฏว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 เงินในบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมีไม่พอชำระดอกเบี้ย ทำให้โจทก์ไม่สามารถหักชำระหนี้ตามข้อตกลงได้ โจทก์จึงนำเงินต้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำนวน 70,772.65 บาท มาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปีเศษ โจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี เป็นเงินดอกเบี้ย 52,531.18 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 123,303.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,772.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้ตามฟ้อง ข้อ 8 เป็นข้อสัญญาที่ขยายอายุความขัดต่อกฎหมายไม่มีผลบังคับ อายุความจึงเริ่มต้นนับเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา คือวันที่ 31 มีนาคม 2537 หนี้ตามฟ้องเกิดจากการทดรองจ่ายเงินให้จำเลย โดยโจทก์รับดูแลหรือรับทำการงาน แล้วฟ้องเรียกเอาสินจ้างพร้อมเงินทดรองคืน ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ สัญญากู้ตามฟ้องมีข้อตกลงในข้อ 7 ว่า หากจำเลยผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 เมื่อนับอายุความตั้งแต่จำเลยผิดนัดคดีก็ขาดอายุความเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 123,303.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 70,772.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นพนักงานของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยขอใช้บริการสินเชื่อและทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏกับโจทก์ เพื่อเบิกเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเป็นเงิน 71,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นสุดของเดือน กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จำเลยมีสิทธิเบิกเงินในวงเงินที่กู้ตามจำนวนและเวลาที่จำเลยต้องการ โดยยอมให้โจทก์หักชำระหนี้จากเงินเดือนที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่โอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลย ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.6 หลังจากทำสัญญาจำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่โอนเงินเดือนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 โจทก์หักชำระหนี้แล้ว ปรากฏว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำเลยเป็นหนี้ตามบัญชีจำนวน 70,772.65 บาท ตามรายการคำนวณยอดหนี้สินเชื่อและรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.9 มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 8 มีเงื่อนไขให้ต่อสัญญาออกไปอีกคราวละ 1 ปี เป็นการขยายอายุความซึ่งไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เมื่อมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา อายุความจึงต้องเริ่มนับเมื่อครบกำหนด 1 ปี คือวันที่ 31 มีนาคม 2537 ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เห็นว่า สัญญาข้อ 8 มีข้อความว่า “เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา…” ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใดกรณีหาใช่เป็นการขยายอายุความซึ่งไม่มีผลบังคับตามกฎหมายไม่ จึงไม่อาจเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 ดังที่จำเลยอ้าง ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.6 มีข้อตกลงพิเศษต่างจากสัญญากู้ยืมเงินทั่วไป โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี และโจทก์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยเป็นรายปีฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายซึ่งมีอายุความ 2 ปี จำเลยผิดนัดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถือว่าผิดนัดทุกงวดตามสัญญาข้อ 7 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อปี 2547 จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน โดยจำเลยอาจใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ และปรากฏตามรายการคำนวณยอดหนี้สินเชื่อและรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ว่า ยอดหนี้ตามบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำนวน 70,772.65 บาท เป็นจำนวนเงินที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วย การที่โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ซึ่งฝ่าฝืนต่อข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้เงินต้น 70,772.65 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงไม่ถูกต้องแต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินต้นที่ถูกต้องมีจำนวนเท่าใด ตามรายการคำนวณยอดหนี้สินเชื่อและรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.9 คงมีเพียงรายการที่แสดงจำนวนหนี้นับแต่เดือนมกราคม 2540 เป็นต้นมาเท่านั้น ทั้งมิได้แยกแยะให้เห็นได้ว่ามีเงินต้นค้างชำระเท่าใดในแต่ละเดือน รายการที่แสดงไว้ในแต่ละเดือนเป็นยอดเงินที่รวมดอกเบี้ยไว้แล้วทั้งสิ้น เมื่อไม่อาจทราบจำนวนเงินต้นค้างชำระที่ถูกต้องจากพยานเอกสารดังกล่าว จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในชั้นนี้ได้ การคิดดอกเบี้ยฝ่าฝืนต่อข้อห้ามตามกฎหมายเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 แต่รูปคดีมีเหตุสมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share