คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม ม. 256 ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม ม. 256 วางกำหนดโทษจำคุก 6 เดือน
โจทก์ดอุทธรณ์ต่อมาขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ตาม ม. 256 เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าบาดเจ็บไม่สาหัสก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บไม่สาหัสตาม ม. 254 และเห็นสมควรจะวางอัตราโทษเท่าใดตามมาตรานี้ก็ได้ แม้จะเพิ่มกำหนดโทษเป็น 1 ปี 6 เดือนสูงกว่าศาลชั้นต้นก็ได้ เพราะไม่เป็นการเกินคำขอตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม มาตรา 256

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดประมวลรัษฎากรและทำร้ายร่างกายนายมนัสบาดเจ็บสาหัส จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้รวมกับคดีที่ ส.ต.ต.สุชาติจำเลยกลับเป็นโจทก์ฟ้องนายมนัส ผู้เสียหายอีกสำนวนหนึ่งหาว่าหมิ่นประมาทและทำร้ายขัดขวาง ส.ต.ต.สุชาติซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ (คดีที่ ส.ต.ต.สุชาติเป็นโจทก์ยุติเพียงชั้นศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ส.ต.ต.สุชาติจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๕๔ (คือฟังว่าบาดแผลนายมนัสไม่สาหัส) ให้จำคุก ๖ เดือน แต่ให้ยกฟ้องอัยการโจทก์สำหรับ ส.ต.ต.ประสงค์ จำเลย และยกฟ้องอัยการโจทก์ในข้อหาฐานกระทำผิดประมวลรัษฎากรกับให้ยกฟ้องในคดีที่ ส.ต.ต.สุชาติฟ้องนายมนัสเป็นจำเลย
อัยการโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฐานทำร้ายนายมนัสถึงบาดเจ็บสาหัสตามฟ้อง
ส.ต.ต.สุชาติอุทธรณ์ทั้งในฐานะเป็นจำเลยและเป็นโจทก์ ขอให้ยกฟ้องอัยการโจทก์และให้ลงโทษนายมนัส
ศาลอุทธรณ์เห็นชอบกับศาลชั้นต้นที่ลงโทษ ส.ต.ต.สุชาติ จำเลยตามมาตรา ๒๕๔ (คือคงฟังว่าบาดเจ็บของนายมนัสไม่สาหัส) และจำเลยยังไม่มีผิดตามประมวลรัษฎากรดังฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์อุทธรณ์นี้ก็เพื่อให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักคือตามมาตรา ๒๕๖ แม้บาดเจ็บของนายมนัสไม่ถึงสาหัสดังโจทก์ขอก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษส.ต.ต.สุชาติจำเลยให้เป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน นอกนี้ยืน
ส.ต.ต.สุชาติฎีกา ศาลฎีกาสั่งรับฉะเพาะข้อกฎหมายในข้อที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามมาตรา ๒๕๖ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าบาดเจ็บไม่สาหัส คงลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บตามศาลชั้นต้น แต่เพิ่มกำหนดโทษจำเลยหนักเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นนั่นเอง ศาลอุทธรณ์อำนาจพิพากษาเพิ่มกำหนดโทษจำเลยให้หนักขึ้นได้ตามควรแก่รูปคดี หาเป็นการเกินคำขอไม่ พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์

Share