แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ม. 300 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับลงโทษจำเลยเพียงทำร้ายร่างกายตาม ม. 254 เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริง แม้จะอ้างเหตุผลไปคนละนัย แต่ในที่สุดก็เห็นต้องกันว่าจำเลยไม่ผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ดังข้อหาของโจทก์จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานชิงทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริง ดังนี้ โจทก์จะฎีกาข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์หาได้ไม่ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม. 219
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/249+)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ คือ ปืน ๑ กระบอก ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม. ๓๐๐ จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความแตกต่างขัดกัน และคดีเป็นที่สงสัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยเอาปืนของเจ้าทรัพย์ไปและได้ทำร้ายนายสิงห์มีบาดเจ็บ แต่ไม่มีเจตนาลักมาแต่แรกเพราะ่จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านเข้าใจว่าเป็นปืนเถื่อน คดีไม่เป็นชิงทรัพย์ จำเลยคงมีผิดเพียงทำร้ายร่างกาย จึงพิพากษากลับจำคุกจำเลย ๒ เดือน ตาม ม. ๒๕๔
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าคดีเรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงแม้จะอ้างเหตุผลคนละนัย แต่ในที่สุดก็เห็นพ้องต้องกันว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์หรือลักทรัพย์ดังข้อหาของโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับข้อหาฐานชิงทรัพย์นี้เสียแล้ว โดยอาศัยข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้าม ตาม ป. วิ.อาญา ม. ๒๑๙
จึงพิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์