แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย 4 คนแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวมซึ่งมีเนื้อที่ตามโฉนด 81 ไร่ 2 งาน 42ตารางวา ให้เป็นส่วนของโจทก์เนื้อที่ 27 ไร่84 ตารางวาตามที่ครอบครอง เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาว่าโจทก์จำเลยต่างได้ปกครองที่พิพาทกันตามส่วนของตน และเมื่อคำนวณตามส่วนสัดของที่ดินทั้งหมดเป็นเกณฑ์แล้ว ผลปรากฏว่าโจทก์มีอยู่ 2 ส่วน จำเลยทั้งสี่มีคนละ 1 ส่วนย่อมเห็นได้ว่าความสำคัญตามคำพิพากษาต้องถือเอาส่วนสัดที่ต่างคนต่างปกครองเป็นสำคัญข้อความที่เกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่นั้นเป็นเพียงความประสงค์ที่จะแสดงถึงส่วนสัดที่คำนวณได้จากจำนวนเนื้อที่ที่ปรากฏอยู่ในโฉนดเท่านั้นฉะนั้นเมื่อปรากฏในชั้นบังคับคดีว่าเนื้อที่ดินตามโฉนดขาดไป คงรังวัดได้ 71 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา จึงชอบที่จะถือเอาส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา เป็นเงื่อนไขสำคัญกว่าจำนวนเนื้อที่สำหรับใช้เป็นหลักในการบังคับคดี ศาลย่อมให้แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ 2 ใน 6 ส่วนของที่ดินที่รังวัดได้ ขาดเกินเพียงใดให้คิดชดเชยกันระหว่างที่ดินที่โจทก์ครอบครองกับที่ดินติดต่อส่วนที่เหลือ
ย่อยาว
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5168 ซึ่งโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ปกครองร่วมกันมีเนื้อที่ 81 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา โจทก์มีกรรมสิทธิ์ 27 ไร่ 84 ตารางวา และจำเลยทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์คนละ 13 ไร่ 2 งาน42 ตารางวา จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 มาศาลจำเลยที่ 3 ป่วยไม่ได้มาด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 4 แถลงว่าไม่ติดใจสู้คดี เพราะโจทก์ตกลงรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้ตามสิทธิในที่ที่ปกครองอยู่ส่วนจำเลยที่ 1 แถลงว่าขอให้รังวัดในที่ที่ปกครองเช่นเดียวกัน ถ้าเนื้อที่ (ที่วัด)มากกว่า 13 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา ก็ขอเอาส่วนที่เกินนั้น แต่ถ้าขาดจำนวนดังกล่าวไปจะไม่ติดใจเรียกร้องเอาตามสิทธิ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานได้ 1 ปาก พร้อมกับส่งอ้างเอกสาร 1 ฉบับ แล้วไม่ติดใจสืบพยานต่อไป จำเลยที่มาศาลทุกคนไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ไปทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 5168 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้เป็นส่วนของโจทก์เนื้อที่ 27 ไร่ 84 ตารางวาตามที่ปกครอง หากไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดเพียงนี้
ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตโฉนดของโจทก์จำเลยโดยจำเลยเป็นฝ่ายชี้เขต ส่วนโจทก์ไม่ยอมชี้ ปรากฏว่าเนื้อที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินคำนวณจากแนวเขตที่ชี้มีเพียง 71 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวาเท่านั้น โจทก์ยืนยันขอเอาส่วนแบ่งให้ได้เนื้อที่ดินจำนวน 27 ไร่ 84 ตารางวาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนัดโจทก์จำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินมาพร้อมกัน โจทก์แถลงว่ารูปแผนที่ที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดใหม่ไม่ตรงกับแผนที่หลังโฉนด ขอให้กรมที่ดินรังวัดใหม่โดยวิธีปูโฉนด เจ้าพนักงานที่ดินแถลงว่าจะรังวัดโดยวิธีปูโฉนดไม่ได้ เพราะเป็นโฉนดแผนที่ระวางอย่างเก่า จำเลยแถลงว่าการที่จะไปรังวัดสอบเขตใหม่เนื้อที่แบ่งแยกตามส่วนไม่มีทางที่จะทำได้ เพราะจะรุกล้ำเข้าไปในที่ที่แต่ละคนครอบครอง จำเลยยอมให้รังวัดตามที่แต่ละคนครอบครองแต่โจทก์ไม่ยอม ศาลชั้นต้นสอบโจทก์จำเลยถึงการที่จะให้มีการประมูลขายที่ดินระหว่างกันเองเอาเงินแบ่งตามส่วน จำเลยที่ 1 ยินยอมแต่โจทก์ไม่ยอม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เอาที่ดินที่พิพาทขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วนให้โจทก์ได้ 2ส่วน จำเลยได้คนละส่วน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่พิพาทเต็มเนื้อที่ตามฟ้องนั้น เป็นเพราะโจทก์อ้างจำนวนเนื้อที่ตามโฉนดเป็นเกณฑ์ เมื่อปรากฏว่าจำนวนที่ดินที่แท้จริงไม่ถึงตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงควรจะต้องได้รับส่วนแบ่งตามอัตราส่วนเท่าที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ ที่พิพาทมีขอบเขตแน่นอนสามารถแบ่งแยกออกเป็นแปลง ๆ ได้ ไม่เกิดความเสียหายจึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่ง 2 ใน 6 ส่วนของที่ดิน 71 ไร่ 2 งาน70 ตารางวา ตามรูปแผนที่แบ่งแยกท้ายหนังสือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยคิดจากที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นเกณฑ์ขาดเกินเพียงใดให้คิดชดเชยกันระหว่างที่ดินที่โจทก์ครอบครองและที่ดินที่ติดต่อส่วนที่เหลือ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นว่าโจทก์และจำเลยแต่ละคนได้ปกครองที่พิพาทกันตามส่วนของตนโดยแบ่งที่เป็น 6แถวจากทิศเหนือไปหาทิศใต้ ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าคำนวณส่วนลัดของที่ดินทั้งหมดเป็นเกณฑ์แล้วผลก็จะเป็นว่าโจทก์มีส่วนอยู่ 2 ส่วน จำเลยทั้งสี่มีคนละ1 ส่วนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นที่สุดได้สั่งบังคับให้แบ่งที่ดินตามที่คู่ความได้ปกครองกัน ความสำคัญจึงควรจะต้องถือเอาส่วนสัดที่ต่างคนต่างได้ครอบครองเป็นสำคัญ ข้อความที่เกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ปรากฏอยู่ด้วยนั้นน่าจะเป็นแต่เพียงความประสงค์ที่จะแสดงถึงส่วนสัดที่คำนวณได้จากจำนวนเนื้อที่ที่ปรากฏในโฉนดเท่านั้นเอง เพราะไม่ได้มีการนำสืบถึงจำนวนเนื้อที่ที่ได้ปกครองกันอยู่ตามความเป็นจริง และไม่ได้มีการรังวัดยืนยันจำนวนเนื้อที่ตามโฉนดว่าถูกผิดอย่างไรบ้าง ฉะนั้น เมื่อปรากฏในภายหลังว่าเนื้อที่ดินที่แท้จริงขาดหายไปจากจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนด ก็ชอบที่จะต้องถือเอาส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาเป็นเงื่อนไขที่สำคัญว่าจำนวนเนื้อที่สำหรับใช้เป็นหลักในการบังคับคดี เพราะถ้าหากถือเอาตามจำนวนเนื้อที่เป็นหลักในการบังคับคดีแต่อย่างเดียวดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาแล้ว ส่วนการครอบครองที่แท้จริงของโจทก์ย่อมจะคลาดเคลื่อนไป ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบและที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งส่วนของโจทก์ 2 ส่วนจากเนื้อที่ดินตามที่คำนวณได้ใหม่ โดยคิดจากที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นเกณฑ์ ขาดเกินเพียงใดให้คิดชดเชยกันระหว่างที่ดินที่โจทก์ครอบครองและที่ดินติดต่อส่วนที่เหลือซึ่งจำเลยก็มิได้ฎีกาโต้แย้งนั้นน่าจะเป็นผลดีแก่โจทก์และชอบด้วยความเป็นธรรมแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน