แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีได้ความว่าในคดีเดิมที่ อ. เป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 กับพวก รวม 6 คน ฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2549 ที่ให้ อ. กับพวก พ้นจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2212 – 2217/2550 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งที่ 3/2549 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงถือว่า อ. กับพวก คงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 และให้ ร. จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 45 วัน โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาอ้างเหตุว่าศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบและคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ ร. จัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099 – 3104/2554 ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงมีผลเท่ากับว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ ร. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นด้วย เมื่อการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมจึงผูกพันในผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่กรรมการของโจทก์ที่ 1 ที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยชอบมาตั้งแต่แรกตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี โจทก์ที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 2429/2550 ของศาลแรงงานกลางและบรรดาสรรพเอกสารทั้งปวงของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสอง และมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสิบหยุดการทำข่าวในนามโจทก์ที่ 1 และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานโจทก์ที่ 1 ในฐานะกรรมการของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับใช้ค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะหยุดการกระทำอย่างเป็นทางการ แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 2429/2550 ของศาลแรงงานกลาง และบรรดาสรรพเอกสารทั้งปวงของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบหรือโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับให้แก่โจทก์ทั้งสอง และห้ามจำเลยทั้งสิบทำข่าวในนามโจทก์ที่ 1 และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานโจทก์ที่ 1 ในฐานะกรรมการของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ที่ 1 มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานกรรมการ มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 6 คน พ้นจากสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นไป โดยกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 กับพวกกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับพวกได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า โจทก์ที่ 2 กับพวกยังคงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ต่อไป และสั่งให้จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการของโจทก์ที่ 1 ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 ภายใน 45 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา โดยบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า นายอานุภาพ แถลงรับหน้าที่เป็นประธานการเลือกตั้งและจัดเลือกตั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 โดยไม่ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญอีก โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายอานุภาพจัดการเลือกตั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีการประชุมใหญ่ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับพวกได้รับเลือกตั้งเป็นประธานและกรรมการของโจทก์ที่ 1 ชุดใหม่ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 16 คน เป็นโจทก์ฟ้องนายอานุภาพขอให้มีคำสั่งว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกฟ้องเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 16 คน อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา วันที่ 5 กันยายน 2550 นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนกลางรับจดทะเบียนโจทก์ที่ 2 กับพวกเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ชุดใหม่ โดยโจทก์ที่ 2 เป็นประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 มีผลตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2552 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน นายทะเบียนมีคำสั่งยืน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน เป็นโจทก์ฟ้องนายทะเบียนขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียน และหลังจากที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนโจทก์ที่ 2 กับพวกเป็นคณะกรรมการของโจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 10 คน ยังคงดำเนินบทบาทการเป็นคณะกรรมการของโจทก์ที่ 1 ต่อไปและครอบครองสมุดบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 กับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2429/2550 ของศาลแรงงานกลางไว้ ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีแทน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการของโจทก์ที่ 1 นับแต่นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2550 ตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 ข้อ 32 ส่วนจำเลยทั้งสิบถือว่าพ้นหน้าที่และต้องส่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่มีโจทก์ที่ 2 เป็นประธานกรรมการภายใน 30 วัน ตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 ข้อ 34 ไม่มีข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรักษาการไปพลางในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ มีอำนาจเรียกให้จำเลยทั้งสิบส่งมอบบรรดาสรรพเอกสารทั้งปวงของโจทก์ที่ 1 มีสิทธิห้ามมิให้จำเลยทั้งสิบทำข่าวในนามโจทก์ที่ 1 และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไปได้ แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสิบใช้ค่าเสียหายจากการไม่นำเงินรายได้ของโจทก์ที่ 1 เข้าบัญชีโจทก์ที่ 1 และนำเงินของโจทก์ที่ 1 ไปใช้จ่ายในการฟ้องและต่อสู้คดีกับโจทก์ทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีการนำเงินไปใช้ส่วนตัวเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กรณีได้ความว่าในคดีเดิมที่นายอารีย์ เป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 6 คน ฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2549 ที่ให้นายอารีย์กับพวกพ้นจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2212-2217/2550 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งที่ 3/2549 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงถือว่านายอารีย์กับพวกคงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 และให้นายอานุภาพ จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 45 วัน โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาอ้างเหตุว่าศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบและคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้นายอานุภาพจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099-3104/2554 ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงมีผลเท่ากับว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้นายอานุภาพดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นด้วย เมื่อการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมจึงผูกพันในผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่กรรมการของโจทก์ที่ 1 ที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยชอบมาตั้งแต่แรกตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี โจทก์ที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง