คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีลักษณะเป็นคำสั่งทางราชการแต่เนื่องจากเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 7 (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 วรรคสอง (3) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงไม่นำเอา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาใช้บังคับและไม่อาจนำมาใช้ในลักษณะของบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งด้วย เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำนาม 2 คำ นำมาวางต่อกันอย่างไม่เป็นไปตามไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ สำหรับคำว่า “MONSTER” แปลว่า อสุรกาย สัตว์ประหลาด มหึมา มโหฬาร ส่วนคำว่า “POWER” แปลว่า อำนาจ กำลัง พลัง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงอาจแปลว่า พลังอสุรกาย และไม่ได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขอจดทะเบียน แต่ถึงจะแปลความหมายว่า กำลังมหาศาล ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง เพราะคำว่า “POWER” แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าถือเป็นพลังงานรูปหนึ่งแต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนที่ได้เห็นหรือได้ยินเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วจะนึกถึงสินค้าของโจทก์หรือทราบถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์ได้ในทันที เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “MONSTER POWER” โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้าเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเนื่องจากคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ทำการโฆษณาเผยแพร่จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 492444 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 291/2547 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ต่อไปจนเสร็จ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีเพราะคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้กระทำไปโดยสุจริต ภายในขอบเขตของกฎหมายและถูกต้องแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง หลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้มีการโฆษณาหรือใช้จนแพร่หลายแล้วในประเทศไทย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 0704/23420 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 291/2547 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “MONSTER POWER” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 492444 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “MONSTER POWER” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า เครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำสั่งทางปกครอง โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถึง 3 ปี เห็นว่า แม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีลักษณะเป็นคำสั่งทางราชการแต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงไม่นำเอาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับตามที่จำเลยอุทธรณ์ และไม่อาจนำมาใช้ในลักษณะของบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งด้วย เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำนาม 2 คำ นำมาวางต่อกันอย่างไม่เป็นไปตามไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ สำหรับคำว่า “MONSTER” แปลว่า อสุรกาย สัตว์ประหลาด มหึมา มโหฬาร ส่วนคำว่า “POWER” แปลว่า อำนาจ กำลัง พลัง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงอาจแปลว่า พลังอสุรกาย และไม่ได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขอจดทะเบียน แต่ถึงจะแปลความหมายว่า กำลังมหาศาล ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง เพราะคำว่า “POWER” แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเนื่องจากไฟฟ้าถือเป็นพลังงานรูปหนึ่งแต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนที่ได้เห็นหรือได้ยินเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วจะนึกถึงสินค้าของโจทก์หรือทราบถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์ได้ในทันที เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันและเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับการทุเลาคดีอีกต่อไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share