แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 มิใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่ง การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่งจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ตายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุประมาณ 58 ปี และ 34 ปี ตามลำดับแล้ว เห็นว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 300,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท ถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 ขณะเกิดเหตุละเมิดมีอายุประมาณ 78 ปี นับว่ามีอายุมากแล้วเมื่อเทียบกับอายุขัยของคนทั่วไป ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเงินถึง 300,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูง จึงเห็นสมควรลดลงบางส่วนโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท
ฝ่ายโจทก์อ้างว่าในการจัดงานศพและพิธีหลังฝังศพเป็นไปตามประเพณีของศาสนาอิสลาม โดยมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนทางพิธีกรรมและภาพถ่ายมาสนับสนุน เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายพบว่ามีคนมาร่วมงานค่อนข้างมาก ซึ่งย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นให้เป็นจำนวน 100,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
โจทก์ที่ 3 ซื้อรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับมาในราคา 410,000 บาท และได้ใช้งานก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ถึง 3 ปี การที่ขายรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับได้เพียง 325,000 บาท จึงน่าจะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมเพราะการใช้รถด้วย มิใช่เพราะจากการถูกเฉี่ยวชนเพียงอย่างเดียว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 40,000 บาท
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขณะที่นายศุภสิทธิ์ขับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน อท 4729 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนเชื่อมสัมพันธ์ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 8 ฌ – 1956 กรุงเทพมหานคร แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จนไม่สามารถบังคับรถยนต์ให้แล่นในช่องทางของตนได้ รถยนต์ตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักแล่นเข้าไปขวางในช่องเดินรถของนายศุภสิทธิ์ในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถยนต์ตู้คันที่นายศุภสิทธิ์ขับชนกับรถยนต์ตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับอย่างแรง ทำให้รถทั้งสองคันเสียหาย และนายศุภสิทธิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา จำนวน 1,200,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาจำนวน 1,200,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นจำนวน 390,500 บาท ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับจำนวน 100,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจำนวน 120,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 3,010,500 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,010,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์ตู้คันหมายเลขทะเบียน 8 ฌ – 1956 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเพียงผู้ให้เช่า จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 100,000 บาท และร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 300,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 นั้นเป็นการชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้าง มิใช่ให้รับผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถยนต์ตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 มิใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่งการที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่งจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างหรือไม่ ปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยมาก็ตาม แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาก่อน และเห็นว่าโจทก์ทั้งสามนำสืบถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 โดยมีตัวโจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ได้รับแจ้งจากคนขับรถยนต์ตู้สายเดียวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาประมาณ 3 วัน ทั้งเบิกความว่า หลังเกิดเหตุ โจทก์ที่ 2 กับมารดาจำเลยที่ 1 ได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่เรือนจำและได้นำสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์ให้จำเลยที่ 1 ดู จำเลยที่ 1 รับว่าได้ลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษเปล่า ส่วนข้อความต่าง ๆ มีการเติมในภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายจำปาที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุเป็นประจำ เพียงแต่รับจ้างข้บในกรณีคนขับขาดแคลน พยานไม่เคยทำสัญญาเช่ารถยนต์ตู้ และจากการสอบถามบุคคลอื่นก็ไม่มีผู้ใดทำสัญญาเช่ารถยนต์ตู้เช่นเดียวกัน ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 นำสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 มาให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อที่สถานีตำรวจนครบาลลำผักชีหลังจากเกิดเหตุแล้วโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบข้อความในสัญญาดังกล่าว และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์ตู้ของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างขับรถทั่วไป หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกแก่จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่เคยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ เมื่อพิจารณาสัญญาเช่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 2 อ้างส่งต่อศาลก็พบว่าเกือบทุกฉบับเขียนด้วยลายมือ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ทำธุรกิจให้เช่ารถยนต์ตู้จริง ก็น่าจะดำเนินการจัดทำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาเช่าให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่น่าจะเขียนขึ้นใหม่เป็นคราวๆ ไปให้เสียเวลา และหากเป็นเรื่องของการให้เช่ารถก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้นำเงินค่าวินไปจ่ายให้เจ้าของวินรถยนต์ตู้เอง ทั้งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 เองที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องขับรถในเส้นทางที่กำหนดไว้ จะนำไปแล่นรับส่งผู้โดยสารที่อื่นไม่ได้ เว้นแต่มีบางครั้งที่มีผู้เช่าไปต่างจังหวัดและจำเลยที่ 2 เห็นว่าไม่ไกลก็จะขอคิดค่าเช่าอีก 1,000 บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการจำเลยที่ 1 ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่น่าจะเป็นเพียงผู้เช่าและผู้ให้เช่าตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้วขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการต่อไปมีว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เหมาะสมแล้วหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาในทำนองว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ช่วยเหลือจุนเจือโจทก์ทั้งสามหรือจุนเจือก็เพียงเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายก็เกินกว่าความจำเป็นตามประเพณีทางศาสนาอิสลาม ส่วนค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถก็สูงเกินไปเช่นกัน เห็นว่า ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามหรือไม่ และเมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุประมาณ 58 ปี และ 34 ปี ตามลำดับแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 300,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท ถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 นั้นได้ความว่าขณะเกิดเหตุละเมิดมีอายุประมาณ 78 ปี นับว่ามีอายุมากแล้วเมื่อเทียบกับอายุขัยของคนทั่วไป ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเงินถึง 300,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูง จึงเห็นสมควรลดลงบางส่วนโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ในส่วนค่าปลงศพนั้น เห็นว่า ฝ่ายโจทก์นำสืบโดยอ้างว่า การจัดงานศพและพิธีหลังฝังศพเป็นไปตามประเพณีของศาสนาอิสลาม โดยมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนทางพิธีกรรมและภาพถ่ายมาสนับสนุน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายดังกล่าวพบว่า มีคนมาร่วมงานค่อนข้างมาก ซึ่งย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นให้เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 3 ซื้อรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับมาในราคา 410,000 บาท และได้ใช้งานก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ถึง 3 ปี การที่ขายรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับได้เพียง 325,000 บาท จึงน่าจะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมเพราะการใช้รถด้วย มิใช่เพราะจากการถูกเฉี่ยวชนเพียงอย่างเดียว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 40,000 บาท สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้น เห็นว่า แม้รถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่น่าใช้เวลาซ่อมถึง 5 เดือน ทั้งโจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ที่ 3 ต้องใช้เวลาในการซ่อมรถถึงเพียงนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เป็นเงินจำนวน 80,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อกรณีเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 100,000 บาท แล้วร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 300,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท กับให้ร่วมกันชำระค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 120,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ