คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันและไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร
โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งผลกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,308,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,756,338 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้าง มีนายประวิทย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามประทับตรากระทำการผูกพันโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชนะการประมูลงานจัดซื้อท่อพีวีซีแข็งพร้อมข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ส่งมอบที่จังหวัดศรีสะเกษ ในราคา 22,999,999 บาท ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายครั้งแรก แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบท่อพีวีซีแข็งพร้อมข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบที่ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด ตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งไว้ขณะทำสัญญา กรมชลประทานจึงบอกเลิกสัญญา ริบหลักประกัน 1,150,000 บาท และคิดค่าปรับจากจำเลยที่ 1 จำนวน 4,186,799.48 บาท รวมเป็นเงิน 5,336,799.48 บาท จากนั้นกรมชลประทานประกาศประกวดราคาจัดซื้อท่อพีวีซีแข็งพร้อมข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบครั้งที่สอง จำเลยที่ 1 ชนะการประมูลงานอีกครั้งหนึ่งและเข้าทำสัญญาซื้อขายแก่กรมชลประทาน ในราคา 22,999,999 บาท เท่ากับราคาตามสัญญาซื้อขายฉบับแรก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 ส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาดังกล่าวและกรมชลประทานชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยหักชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ค้างชำระจากการผิดสัญญาซื้อขายครั้งแรกกับทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 1 ออก ได้แก่ หลักประกัน 1,150,000 บาท ค่าปรับ 4,186,799.48 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 214,953.26 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 รับโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ 17,448,246.26 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนประมูลงานและทำสัญญาจำหน่ายท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์ข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ สชป.8/E.ศก.ซ.2/2556 ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายครั้งที่สอง จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คัดค้าน ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนประมูลงานและทำสัญญาจำหน่ายท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์ข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทานตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกด้วยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนร่วมประมูลงานจำหน่ายท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์ข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ครั้งที่สอง ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเลิกกันเพราะได้จำหน่ายท่อพีวีซีแข็งให้แก่กรมชลประทานและรับชำระราคาแล้ว จากนั้นมีการชำระบัญชีแต่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินในรายการชำระบัญชี ส่วนจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนร่วมประมูลงานจำหน่ายท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์ข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่กรมชลประทานครั้งแรก มิใช่ครั้งที่สองตามฟ้อง ซึ่งต่อมาสัญญาซื้อขายครั้งแรกได้ถูกกรมชลประทานบอกเลิก ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันและมีแต่ขาดทุนซึ่งโจทก์ต้องรับเฉลี่ยส่วนขาดทุนนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ได้เริ่มเข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองตั้งแต่การเข้าร่วมประมูลงานตามสัญญาซื้อขายครั้งแรก ในเรื่องนี้จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในการเข้าเสนอราคาแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน จำเลยที่ 2 กำชับให้นายราชัน พนักงานจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เข้าร่วมการเสนอราคา ต้องเสนอราคาไม่ต่ำกว่า 28,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะได้กำไรร้อยละ 10 ของทุนที่ลงไป แต่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ด้วยวาจาให้เสนอราคาที่ 22,999,999 บาท หากมีความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกลงกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อจำหน่ายท่อให้แก่กรมชลประทาน ส่วนนายราชันเบิกความแต่เพียงว่า พยานเป็นลูกจ้างทั่วไปของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เดินเอกสารและได้รับมอบอำนาจให้ลงชื่อเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขาย แต่ไม่ทราบเรื่องโจทก์จะเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองหรือไม่ อย่างไร ทั้งไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดราคา พยานจำเลยทั้งสองปากอื่น ๆ คือ นายศุภชัย ผู้จัดทำเอกสารเสนอราคาของจำเลยที่ 1 และนายธำรงรัตน์ ผู้ดูแลงานประกวดราคาของจำเลยที่ 1 ซึ่งล้วนเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสนอราคาประมูลงานตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกก็มิได้เบิกความถึงการเข้าเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง หากโจทก์เข้าตกลงกับจำเลยที่ 2 และเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ต้องกำหนดจำนวนเงินที่เสนอราคาเป็น 22,999,999 บาท อันเป็นจำนวนที่มีลักษณะเฉพาะ นายราชัน นายศุภชัยและนายธำรงรัตน์ย่อมต้องเบิกความถึงเหตุการณ์ซึ่งจำเลยที่ 2 ตัดสินใจกำหนดจำนวนเงินในรูปแบบดังกล่าวว่ามีที่มาอย่างไร แต่กลับไม่ปรากฏว่าพยานจำเลยทั้งสองทุกปากข้างต้นจะได้เบิกความถึงเรื่องดังกล่าวทั้งที่อ้างว่าต่างมีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือจำเลยทั้งสองในการประมูลงานและทำสัญญาซื้อขายฉบับแรกจึงนับเป็นข้อพิรุธ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ให้เสนอราคาที่ 22,999,999 บาท หากมีความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ก็ไม่ชัดเจนว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างไร ข้อที่ว่าโจทก์ได้มาตกลงกับจำเลยทั้งสองเข้าเป็นหุ้นส่วนกันจึงมีลักษณะแต่เพียงลอยๆ ไม่มีรายละเอียดข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนและการแบ่งหน้าที่กันในระหว่างหุ้นส่วน ส่วนที่จำเลยที่ 2 และนายธำรงรัตน์เบิกความว่า ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องกรมชลประทานขอคืนเบี้ยปรับตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกนั้น ภายหลังโจทก์ได้ติดต่อทนายความมาทำหน้าที่แทนนายธำรงรัตน์ เมื่อพิจารณาเอกสารซึ่งเป็นสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีต่อศาลปกครองอุบลราชธานีพร้อมเอกสารประกอบ การฟ้องคดีกระทำตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายทวีศักดิ์และนายศรัณย์ดำเนินคดีต่อศาลในวันที่ 22 มีนาคม 2556 ในช่วงระยะเวลานี้ไม่ปรากฏว่านายประวิทย์กรรมการโจทก์และพนักงานของโจทก์จะได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย กลับปรากฏว่านางสาวจารุวรรณพนักงานของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานและผู้เขียนในหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้นายบุรินทร์และนายณัฎฐ์ดำเนินคดีต่อศาลปกครองอุบลราชธานี ในวันที่ 10 กันยายน 2556 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนประมูลงานและทำสัญญาซื้อขายครั้งที่สองแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 สอดคล้องกับคำเบิกความนางสาวจารุวรรณตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า พยานรู้จักจำเลยทั้งสองตอนที่ชำระบัญชีสัญญาซื้อขายส่งมอบท่อฉบับที่สอง ส่วนที่ลงชื่อเป็นพยานเพราะจำเลยที่ 2 บอกให้ช่วยเซ็นต์เป็นพยานและไม่รู้จักผู้รับมอบอำนาจในเอกสารดังกล่าว เช่นนี้ การลงลายมือชื่อของนางสาวจารุวรรณจึงไม่ใช่เหตุแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยที่ 1 ในการดำเนินคดีปกครอง ทั้งหากโจทก์ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองตั้งแต่การประมูลงานและทำสัญญาซื้อขายครั้งแรกและช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยที่ 1 ก็น่าจะดำเนินการตั้งแต่เริ่มคดีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเพิ่งเข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เมื่อการดำเนินคดีผ่านไปแล้วถึง 6 เดือนเศษ พยานหลักฐานเพียงเท่านี้ไม่ทำให้ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองประมูลงานและทำสัญญาซื้อขายแก่กรมชลประทานตั้งแต่สัญญาครั้งแรกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่วนพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่เข้าประมูลงานทำสัญญาซื้อขายครั้งที่สองแก่กรมชลประทานด้วยตนเองเพียงลำพังนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าในการประกวดราคาทำสัญญาซื้อขายครั้งที่สอง หากมีผู้ชนะการประกวดราคาโดยเสนอราคาที่สูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้ 22,999,999 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าส่วนต่างนั้นให้แก่กรมชลประทาน ซึ่งนายประวิทย์กรรมการโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ตั้งใจจะเข้าประมูลงานตามสัญญาซื้อขายครั้งที่สองในราคา 32,000,000 บาท เช่นนี้ ตามวิสัยผู้ประกอบธุรกิจเช่นโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าเสนอราคาต่ำกว่าข้อเสนอราคาของโจทก์เพื่อบรรเทาภาระการชดใช้เงินส่วนต่างระหว่างมูลค่าซื้อขายของสัญญาครั้งแรกและสัญญาครั้งที่สองให้แก่กรมชลประทาน อันจะทำให้โอกาสในการชนะการประมูลงานของโจทก์ลดน้อยลง นอกจากนี้นายประวิทย์ยังเบิกความอีกด้วยว่า โจทก์คิดว่าการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองเป็นกิจการเฉพาะกิจที่ไม่ยุ่งยากเพราะเป็นเพียงการส่งมอบและจ่ายเงินค่าสินค้าทั้งหมดเสร็จสิ้นในคราวเดียว ทั้งไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อทรัพย์สินอื่นใดเพื่อให้มีชื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์ไม่ต้องออกทุนในการนำเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นมาค้ำประกันเพราะจำเลยที่ 2 แจ้งว่าสามารถใช้หลักประกันตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกได้ เพียงแต่ชำระค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันคนละครึ่ง เมื่อพิจารณาข้อได้เปรียบเหล่านี้แล้วย่อมมีเหตุผลในเชิงธุรกิจที่โจทก์จะเลือกร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองเพื่อโอกาสชนะการประมูลงานแทนที่จะเข้าประมูลงานด้วยตนเองเพียงลำพัง พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นข้อสนับสนุนข้ออ้างจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองตั้งแต่การทำสัญญาซื้อขายครั้งแรกแก่กรมชลประทานแต่อย่างใด สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเป็นสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 แต่ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดๆ แสดงถึงการตกลงเข้ากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน พยานแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนไม่มีน้ำหนักสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนประมูลงานและทำสัญญาจำหน่ายท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์ข้อต่อและอุปกรณ์ประกอบแก่สำนักชลประทานที่ 8 กรมชลประทานตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันเพราะเหตุสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียวและเสร็จการนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (3) ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นจึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ ในเรื่องนี้นายประวิทย์ กรรมการโจทก์เบิกความว่า หลังจากส่งมอบสินค้าแก่กรมชลประทานครบถ้วนแล้ว พยานกับจำเลยที่ 2 คุยกันว่าต้องรวบรวมเอกสารเพื่อชำระบัญชี และตกลงจะชำระบัญชีร่วมกันโดยให้นางสาวจารุวรรณเป็นผู้ช่วยจัดทำ จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้มอบเอกสารสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงิน 4 ฉบับ รวม 15,000,000 บาท พร้อมสำเนารายการเดินบัญชีแสดงการคิดดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่พยาน ซึ่งพยานได้มอบให้นางสาวจารุวรรณนำไปใช้จัดทำบัญชี ต่อมานางสาวจารุวรรณรวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชีเสร็จสิ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 แม้จำเลยทั้งสองจะนำสืบปฏิเสธว่าหุ้นส่วนยังมิได้ตกลงกันในเรื่องการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า หลังจากบริษัทไทยวินิเทค (2002) จำกัด ส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว เกี่ยวกับการตกลงกันระหว่างนายประวิทย์กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระบัญชีนั้น จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้นายธำรงรัตน์เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยจำเลยที่ 2 มอบเอกสารจำนวนหนึ่งให้นายธำรงรัตน์ไว้ และรายรับและรายจ่ายตามเอกสารนั้นถูกต้อง เมื่อพิจารณาเอกสารรายการคำนวณทรัพย์สินหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดแสดงข้อมูลเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากกรมชลประทานตามสัญญาซื้อขายครั้งที่สอง รายการหักทอนบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของจำเลยที่ 1 รายการสำรองค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 แล้วย่อมไม่อาจระบุรายการดังกล่าวลงในเอกสารอย่างถูกต้องได้ ตามพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 2 เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่โจทก์ จากนั้นโจทก์มอบข้อมูลให้นางสาวจารุวรรณนำไปจัดทำบัญชี ถือเป็นกรณีที่หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่มีการชำระบัญชีย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนและส่วนแบ่งกำไรพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันว่ารายการบัญชีห้างหุ้นส่วนนั้นมีรายรับและรายจ่ายตามที่ปรากฏในบัญชีเกิดขึ้นจริง จำเลยทั้งสองคงนำสืบปฏิเสธแต่เพียงว่าจำนวนเงินที่เป็นรายจ่ายบางรายการไม่ถูกต้องและมีรายจ่ายอีกบางรายการที่มิได้ระบุไว้ในรายการบัญชีห้างหุ้นส่วนดังกล่าว สำหรับรายรับของห้างหุ้นส่วนมีเพียงรายการเดียวคือรายได้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างกรมชลประทานกับจำเลยที่ 1 เลขที่ สชป.8/E.ศก.ซ.2/2556 ซึ่งเป็นสัญญาครั้งที่สองจำนวน 22,999,999 บาท แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้รับเงินดังกล่าวเต็มจำนวนเพราะกรมชลประทานหักชำระหนี้เดิมตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองกับกรมชลประทาน จำเลยทั้งสองไม่อาจนำเงินดังกล่าวมาหักออกจากรายรับของห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ ส่วนรายจ่ายจำนวนแรกคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 1 จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิเสธ จึงรับฟังได้ว่ามีรายจ่ายเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย 214,953.26 บาท รายจ่ายจำนวนที่สองคือ หนี้สินในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ยืมตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 15,000,000 บาท ที่โจทก์ลงไว้เป็นรายจ่ายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเงินกู้จำนวนนี้เป็นทุนที่ห้างหุ้นส่วนใช้ในการดำเนินงานที่ต้องจัดหักชำระหนี้เป็นลำดับสุดท้ายภายหลังการพิจารณากำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนแล้ว ในชั้นนี้โจทก์ยังไม่อาจนำเงินดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายของห้างหุ้นส่วน ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 2 ครั้ง ครั้งละ 850 บาท รวม 1,700 บาท จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้ง จึงรับฟังได้ว่ามีค่าธรรมเนียมการโอนเงินตามจำนวนดังกล่าว แต่ดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4 ฉบับนั้น โจทก์อ้างว่ามีดอกเบี้ยรวมกันเพียง 76,301.36 บาท จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า ตามรายการเดินบัญชี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คิดดอกเบี้ยหลายครั้งรวมกันเป็นเงิน 155,342.46 บาท เมื่อพิจารณารายการเดินบัญชีแล้ว ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คิดดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นรายเดือน ตั๋วสัญญาใช้เงินสองฉบับแรกคิดดอกเบี้ย 3 เดือน ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินสองฉบับหลังคิดดอกเบี้ย 1 เดือน โดยปรากฏรายการสรุปต้นเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยไว้ที่ตอนท้ายของรายการเดินบัญชีทุกฉบับ คำนวณดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสี่ฉบับรวมกันแล้วเป็นเงิน 155,342.46 บาท ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้ง มิใช่ดอกเบี้ยตามที่โจทก์ลงรายการบัญชีไว้ อันเป็นการนำเฉพาะดอกเบี้ยเดือนสุดท้ายของตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับมาคำนวณซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ครบถ้วน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนมีรายจ่ายจำนวนที่สองอันเป็นรายจ่ายเกี่ยวด้วยทุนจากการกู้ยืมเงินด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นค่าธรรมเนียมการโอน 1,700 บาท และดอกเบี้ย 155,342.46 บาท รวม 157,042.46 บาท รายจ่ายจำนวนที่สามคือ ค่าท่อพีวีซีแข็ง จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่ามีราคาจริง 21,978,776 บาท สูงกว่าจำนวน 41,821 บาท ที่โจทก์ระบุไว้ในรายการบัญชีในข้อนี้โจทก์นำสืบหลักฐานสำเนาใบเสร็จรับเงินและรายการสรุปรายรับของบริษัทไทยวินิเทค (2002) จำกัด ซึ่งปรากฏหลักฐานราคาท่อพีวีซีแข็งที่ได้จำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปทั้งหมดเป็นเงิน 21,041,820.71 บาท อันเป็นการซื้อท่อพีวีซีแข็งจำนวนมากสอดคล้องกับรูปแบบของโครงการที่เป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำของกรมชลประทาน จึงรับฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนมีรายจ่ายเป็นค่าซื้อทรัพย์สินเพื่อส่งมอบตามสัญญาซื้อขายให้แก่กรมชลประทาน 21,041,820.71 บาท ซึ่งต้องนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนมิใช่คำนวณเป็นรายจ่ายเฉพาะส่วนที่จำเลยทั้งสองสำรองจ่ายไปดังที่โจทก์อ้าง ส่วนรายจ่ายจำนวนที่สี่คือ ค่าบริการตลาดกลางนั้น จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องคิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าตลาดกลางโคราชอีก 20,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าค่าตลาดกลางดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกิจการของห้างหุ้นส่วนในคดีนี้อย่างไร เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนที่ได้กระทำลงเกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยทั้งสองย่อมไม่อาจนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ มารวมเป็นค่าใช้จ่ายของห้างหุ้นส่วนได้ ที่โจทก์กำหนดค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าตลาดกลางศรีสะเกษ 20,000 บาท จึงถูกต้องแล้ว รายจ่ายจำนวนที่ห้าคือ ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสัญญาซึ่งโจทก์ระบุไว้ 5,750 บาท นั้น โจทก์นำสืบนางสุมาลี รองผู้จัดการธุรกิจสินเชื่อประจำธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เคยขอให้ธนาคารออกหนังสือสัญญาค้ำประกันวงเงิน 1,150,000 บาท ซึ่งธนาคารคิดค่าธรรมเนียม 5,750 บาท เพราะเป็นการค้ำประกันระยะเวลาเพียง 3 เดือน ตรงกับสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับกรมชลประทานฉบับที่สองที่ระบุว่า หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ ลงวันที่ 29 เมษายน 2556 จำนวนเงิน 1,150,000 บาท ระยะเวลาการปฏิบัติตามสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2556 กำหนดส่งมอบท่อพีวีซีแข็งตามสัญญางวดสุดท้ายวันที่ 14 มิถุนายน 2556 สอดคล้องกับระยะเวลา 3 เดือนในการออกหนังสือค้ำประกันตามที่พยานโจทก์เบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าได้เสียค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันไป 23,000 บาท ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงย่อมไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสัญญาตามที่โจทก์ลงบัญชีไว้ 5,750 บาท รายจ่ายจำนวนที่หกคือ ค่าภาษี ภ.พ.30 โจทก์คำนวณแล้วเป็นเงิน 126,796.69 บาท ซึ่งมาจากการนำภาษีขายตามสัญญาซื้อขายฉบับที่สอง 1,504,672.83 บาท ลบด้วยภาษีซื้อสินค้าท่อพีวีซีและภาษีซื้อค่าตลาดกลางรวม 1,377,876.14 บาท อันเป็นหลักเกณฑ์การคำนวณที่ชัดเจน ส่วนจำเลยทั้งสองคงอ้างจำนวนภาษี 141,613 บาท แต่เพียงลอย ๆ ไม่ปรากฏที่มาในการคำนวณหรือหลักฐานการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องชำระค่าภาษีการค้าอีกอัตราร้อยละ 3 นั้น ก็ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การคำนวณและหลักฐานว่าได้มีการชำระไปจริงหรือไม่อย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนมีรายจ่ายเฉพาะค่าภาษี ภ.พ. 30 ตามที่โจทก์คำนวณ 126,796.69 บาท สำหรับรายจ่ายจำนวนที่เจ็ดซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างขึ้นใหม่คือ ค่าลงท่อ 161,500 บาท นั้น แม้จำเลยที่ 2 และนายธำรงรัตน์ จะเบิกความอ้างว่า บริษัทไทยวินิเทค (2002) จำกัด มีหน้าที่ส่งท่อจากโรงงานถึงหน้างานเท่านั้น ส่วนหน้าที่ขนท่อลงจากรถขนส่งและเรียงท่อจำเลยที่ 1 ต้องเช่ารถเครนและจ้างคนขับเอง เสียค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 10,000 บาท แต่โจทก์นำสืบนายไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษในขณะทำสัญญาซื้อขายท่อพีวีซีแข็งเบิกความว่า หากกรมชลประทานจัดซื้อท่อ ทางบริษัทท่อจะมีรถเฮียบเครนติดมาด้วยเพื่อใช้สำหรับยกท่อลง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบสำเนาใบเสนอราคาท่อพีวีซีแข็งพร้อมอุปกรณ์สำหรับโครงการชลประทานศรีสะเกษของบริษัทไทยวินิเทค (2002) จำกัด ที่ระบุว่า ราคาดังกล่าวรวมค่าขนส่ง กับทั้งมูลค่าการซื้อขายที่สูงถึง 21,041,820.71 บาท แล้ว น่าเชื่อว่าราคาดังกล่าวได้รวมบริการรถเฮียบเครนสำหรับยกท่อลงเพื่อส่งมอบแก่กรมชลประทานด้วยแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าห้างหุ้นส่วนมีรายจ่ายจำนวนที่เจ็ดเป็นค่าลงท่อดังจำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ส่วนรายจ่ายรายการอื่น ๆ ได้แก่ ค่าตลาดกลางตามสัญญาซื้อขายครั้งแรก ค่าปรับฐานผิดสัญญาซื้อขายครั้งแรก เงินประกันสัญญาซื้อขายครั้งแรก ค่าทนายความและเงินวางศาลที่จำเลยทั้งสองฟ้องคดีปกครองตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองเพื่อกระทำกิจการตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกด้วย จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกิดจากการดำเนินการตามสัญญาซื้อขายครั้งแรกมาคำนวณรวมเป็นรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ห้างหุ้นส่วนได้จัดการชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอกแล้ว ส่วนการชดใช้เงินทดรองจ่ายและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปก็ปรากฏชัดว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายออกเงินทดรองจ่ายไปทั้งหมด เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนไว้ทั้งหมด การจัดใช้เงินทดรองจ่ายและค่าใช้จ่ายซึ่งจำเลยทั้งสองออกทดรองไปย่อมหักกลบลบกันไปกับเงินสดอันเป็นสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนซึ่งจำเลยทั้งสองถือครองอยู่ เช่นนี้ หากให้ทำการชำระบัญชีต่อไปย่อมไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรพิจารณาไปเสียทีเดียวว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินทุนและกำไรพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ห้างหุ้นส่วนมีเงินทุนเป็นเงินลงหุ้นจากโจทก์ 3,000,000 บาท จากฝ่ายจำเลยทั้งสอง 3,000,000 บาท จากเงินกู้ยืม 15,000,000 บาท รวมเงินทุน 21,000,000 บาท มีรายได้จากการขายสินค้าแก่กรมชลประทาน 22,999,999 บาท มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ค่าซื้อสินค้าท่อพีวีซี ค่าตลาดกลาง ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันของธนาคาร และค่าภาษี ภ.พ.30 ดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นรวม 21,566,363.12 บาท เมื่อนำรายได้ลบด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว ห้างหุ้นส่วนจึงมีกำไร 1,433,635.88 บาท โจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับกำไรฝ่ายละ 716,817.94 บาท เมื่อรวมกับทุนที่โจทก์ได้ลงไป 3,000,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทุนและส่วนแบ่งกำไรเป็นเงิน 3,716,817.94 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาตามฟ้องนั้น โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายจากกรมชลประทานตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,716,817.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share