คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งห้ามมิให้จำเลยหรือบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดของอาคารที่ได้ดัดแปลงต่อเติมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามฟ้องเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) เมื่อมีกรณีของการดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนกฎหมายเกิดขึ้น จึงออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดของอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมนั้น ชั้นที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมขึ้นอีกหลังหนึ่งด้านหลังอาคารเดิมไม่อาจแบ่งแยกการใช้สอยระหว่างอาคารทั้ง 2 หลังได้ จึงต้องฟังว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ห้ามใช้ประโยชน์เฉพาะอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมขึ้นใหม่เท่านั้น เมื่อจำเลยคงพักอาศัยอยู่ในอาคารหลังเดิมแต่มิได้เข้าใช้สอยอาคารหลังที่ดัดแปลงต่อเติมนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันจะเป็นความผิดและต้องโทษปรับเป็นรายวันตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 67 วรรคสอง ที่ต่อมาภายหลังจำเลยโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่ ส. และ ป. และเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามมาตรา 41 ออกคำสั่งให้ ส. ยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงอาคาร เนื่องจากการดัดแปลงต่อเติมอาคารที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องได้ คดีนี้จำเลยจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียงประการเดียวด้วยการไม่เข้าใช้ประโยชน์อาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมขึ้นเท่านั้น ซึ่งต้องพิจารณาตามความเป็นจริง เมื่อได้ความว่าภายหลังจากวันที่ 19 มีนาคม 2553 ซึ่งจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกแล้วจำเลยไม่เคยเข้าร่วมเกี่ยวข้องอาคารพิพาทอีกเลย ต้องถือว่าจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นครบถ้วนถูกต้องแล้วย่อมไม่อาจลงโทษปรับเป็นรายวันได้อีกต่อไป นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553 เงินค่าปรับที่จำเลยชำระเกินจึงต้องคืนแก่จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 39 ทวิ วรรคหนึ่ง, 40, 41, 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 67 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 28,000 บาท ไม่ปรับจำเลยเป็นรายวัน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท กับให้ปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2551 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 39,000 บาท กับให้ปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2551 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดค่าปรับรายวันและคืนเงินค่าปรับส่วนที่ชำระเกินตามกฎหมายให้แก่จำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ให้งดโทษปรับรายวันในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2), 67 วรรคสอง นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ให้คืนเงินค่าปรับ 166,900 บาท แก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารพิพาทซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น เลขที่ 70/65 ซึ่งก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ต่อมาจำเลยดัดแปลงอาคารดังกล่าวด้วยการต่อเติมส่วนขยายของตัวอาคารด้านหลังเป็นอาคารชนิดตึก ค.ส.ล. 3 ชั้น กว้าง 4 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 12.40 เมตร แล้วเสร็จโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย วันที่ 8 พฤษภาคม 2551 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการดัดแปลงอาคารกับห้ามมิให้จำเลยหรือบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารที่ได้ดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วนับแต่วันที่ 15 กันยายน 2551 เป็นต้นมา จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยยังคงเข้าไปใช้อาคารส่วนดัดแปลงต่อเติมตลอดมา ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 จำเลยขายที่ดินพร้อมอาคาร 3 ชั้น เลขที่ 70/65 รวมทั้งอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้แก่นายสมยศ และนางเปรมวดี จากนั้นไม่เคยยุ่งเกี่ยวใช้สอยอาคารดังกล่าวอีก วันที่ 17 ตุลาคม 2554 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยไม่ปรับรายวันเฉพาะความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท กับให้ปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2551 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เมื่อรวมกับโทษฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 39,000 บาท กับให้ปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2551 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น วันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยุติการปรับจำเลยเป็นรายวันนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553 เพราะจำเลยโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกและขอคืนเงินค่าปรับที่ชำระเกินโดยสำคัญผิด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้งดโทษปรับรายวันในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2), 67 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป กับให้คืนเงินค่าปรับ 166,900 บาท แก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งห้ามมิให้จำเลยหรือบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารที่ได้ดัดแปลงต่อเติมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหานั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) เมื่อมีกรณีของการดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกิดขึ้น จึงออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมนั้น ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมขึ้นอีกหลังหนึ่งด้านหลังอาคารเดิม เลขที่ 70/65 มิอาจแบ่งแยกการใช้สอยระหว่างอาคารทั้งสองหลังได้ จึงต้องฟังว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นข้างต้น ห้ามการใช้ประโยชน์แต่เฉพาะอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมขึ้นใหม่เท่านั้น ซึ่งสามารถแยกออกต่างหากจากอาคารหลังเดิม การฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเรื่องนี้ จึงมีข้อพิจารณาแต่เพียงว่าจำเลยเข้าใช้ประโยชน์จากอาคารหลังที่ดัดแปลงต่อเติมขึ้นใหม่นี้ตามความเป็นจริงหรือไม่ ถึงแม้จำเลยจะมิได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอก โดยยังคงพักอาศัยอยู่ในอาคารหลังเดิม แต่หากมิได้เข้าใช้สอยอาคารหลังที่ดัดแปลงต่อเติมนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันจะเป็นความผิดและต้องรับโทษปรับเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งจะแตกต่างกับกรณีที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว และเจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้อำนาจออกคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นเจ้าของอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งบังคับเอาแก่จำเลยเป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะต้องดำเนินการตามคำสั่งนั้นด้วยตนเอง ซึ่งหากจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเช่นว่านั้น ย่อมมีความผิดและต้องโทษปรับเป็นรายวันจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 66 ทวิ โดยในกรณีหลังนี้ แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปเป็นของบุคคลภายนอก ก็ไม่มีผลทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันชำระค่าปรับเป็นรายวันอยู่ต่อไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงต่อเติม ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2541 ถูกต้องตามที่โจทก์อ้างในฎีกา แต่สำหรับคดีนี้ได้ความตามทางการไต่สวนของจำเลยว่า ภายหลังจากที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่นายสมยศและนางเปรมวดีแล้ว ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ออกคำสั่งให้นายสมยศยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงอาคาร เนื่องจากการดัดแปลงต่อเติมอาคารที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ข้อเท็จจริงจึงเป็นคนละเรื่องกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ฉะนั้น คดีนี้จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียงประการเดียวด้วยการไม่เข้าใช้ประโยชน์ในอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงการเข้าใช้สอยอาคารตามความเป็นจริง เมื่อตามทางการไต่สวนจำเลยได้ความว่าภายหลังจากวันที่ 19 มีนาคม 2553 ซึ่งจำเลยโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอาคารพิพาทอีกเลย กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นครบถ้วนถูกต้องแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันได้อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำวินิจฉัยต้องกันให้งดค่าปรับจำเลยรายวัน นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป กับให้คืนเงินค่าปรับส่วนที่ชำระเกินให้แก่จำเลย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share