คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา 2 ปีนั้น ไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยฎีกาว่า มิใช่เด็กเร่ร่อนจรจัด มีบิดามารดาให้ความอบอุ่นและหลักฐานบ้านช่องพร้อมที่จะให้ความรับรองต่อศาล จำเลยยังศึกษาอยู่ในโรงเรียน จำเลยมิได้มีเถยจิตหรือสันดานเป็นอาชญากร ขอใช้วิธีการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 อนุ (1) ถึง (3) นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ แต่ถ้าจำเลยหรือบิดามารดาจำเลยเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งหรือสั่งใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๕, ๘, ๑๗ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ ๕ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ให้การรับสารภาพตลอดข้อหา จำเลยอื่นนอกนั้นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ , ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๕, ๘, ๑๗ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ อายุยังไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ จึงให้ส่งไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๕ ให้จำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ จำคุกจำเลยที่ ๕ มีกำหนด ๑ ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษโดยใช้วิธีการอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ ซึ่งไม่ใช่วิธีส่งตัวไปสถานีฝึกและอบรม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเป็นเวลา ๒ ปีนั้น ไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ แต่เป็นวิธีการสำหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๔ (๕) ที่เบากว่าการลงโทษจำคุก เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๑๘ ที่จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ฎีกาว่า มิใช่เด็กเร่ร่อนจรจัด มีบิดามารดาให้ความอบอุ่นและหลักฐานบ้านช่องพร้อมที่จะให้ความรับรองต่อศาล จำเลยที่ ๑๔ ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียน จำเลยทั้งสามมิได้มีเถยจิตหรือสันดานเป็นอาชญากร ขอใช้วิธีการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ อนุ (๑) ถึง (๓) แล้วแต่เห็นสมควรนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ แต่ถ้าจำเลยหรือบิดามารดาของจำเลยเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งหรือสั่งใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ วรรคท้าย
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสาม.

Share