คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,000 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 นอกจากร่วมกันกับจำเลยอื่นมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอีก 2,000 เม็ด โดยถือว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเป็นจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 5 รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 6 แล้วมอบให้จำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำไปมอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปแบ่งปันกันเป็นทอดๆ อันมีลักษณะของการกระทำความผิดเป็นขบวนการ
ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 รับว่าจำเลยที่ 1 รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 3 เมื่อจับจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 3 รับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 5 และเมื่อจับจำเลยที่ 5 ได้ จำเลยที่ 5 รับว่ารับแมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ได้ช่วยติดต่อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถวางแผนขยายผลการจับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ร่วมขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษในคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงเป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนเห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนของกลางอื่นโจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต่อไป
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2541 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,000 เม็ด เป็นของกลางได้จากบ้านเลขที่ 5/83 หมู่ที่ 6 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 และยึดเงินจำนวน 65,000 บาท จากที่พักของจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2541 เวลา 1.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าพาต้าสาขาปิ่นเกล้า ต่อมาเวลา 2.30 นาฬิกา จับจำเลยที่ 5 ได้ที่บริเวณหน้าสถานอาบอบนวดเหมยฮัว และยึดรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าหมายเลขทะเบียน พฮ 5439 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 5 ที่จอดอยู่หน้าสถานอาบอบนวดดังกล่าว ยึดเมทแอมเฟตามีนอีก 2,000 เม็ด อ้างว่าซุกซ่อนไว้ในช่องเก็บของด้านหน้ารถ กับเงินจำนวน 340,000 บาท จากที่พักของจำเลยที่ 5 เป็นของกลาง และเวลา 14.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 6 ได้บริเวณหน้าโรงแรมสยามบริเวอรี่ และยึดเงินจำนวน 270,000 บาท กับรถยนต์ยี่ห้อนิสสันหมายเลขทะเบียน 6 ศ – 8374 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 6 เป็นของกลาง เฉพาะจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลโพธิ์แก้ว ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2541 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา พันตำรวจเอกวิจิตรผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลโพธิ์แก้วและชุดสืบสวนปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจดังกล่าว ได้รับแจ้งจากสายลับว่าที่บ้านเลขที่ 5/83 หมู่ที่ 6 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีชาวเขานำเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าจึงรายงานให้พลตำรวจโทนพดลผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบ พลตำรวจโทนพดลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลโพธิ์แก้ว วางแผนจับกุมคนร้ายที่นำเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 5/83 ดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกบัญชากับพวกจึงร่วมกันวางแผนจับกุมในวันเดียวกัน ต่อมาเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพกับพวกรวมกันประมาณ 15 คน ไปที่บ้านเลขที่ 5/83 ดังกล่าว พบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยืนอยู่หน้าบ้าน พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอาการลุกลี้ลุกลนจะวิ่งหนี พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกจึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้และเข้าไปในบ้านพบถุงพลาสติก 1 ถุง วางอยู่ในบ้านบริเวณประตูทางเข้าบ้าน เมื่อสอบถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่ามีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในถุงพลาสติกดังกล่าว พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกตรวจสอบแล้วพบว่ามีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในถุงสีน้ำเงินจำนวน 230 ถุง ถุงละ 200 เม็ด รวมเมทแอมเฟตามีนทั้งหมด 46,000 เม็ด ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 3 ชาวจีนฮ่อที่พักอยู่ในกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปแล้วบางส่วน เงินที่ได้จากการจำหน่ายเก็บไว้ที่ที่พักในตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จำนวน 65,000 บาท และจำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยที่ 2 จำหน่ายแก่ลูกค้าโดยได้ผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 1 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปที่ที่พักของจำเลยที่ 1 และยินยอมให้ยึดเงินจำนวน 65,000 บาท ไว้เป็นของกลาง ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.3 และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกอรรถรสพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนว่าในชั้นสอบสวนเมื่อพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นเดียวกับในชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ชั่วคราว จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่เมื่อมีการสอบสวนเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดีตั้งแต่การสืบทราบว่ามีคนร้ายนำเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 5/83 การวางแผนจับกุม การตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 46,000 เม็ด ในบ้านดังกล่าว และการจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งสาเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวและเจ้าพนักงานตำรวจอีกจำนวนหนึ่งไปตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 5/83 ก็เนื่องจากที่สืบทราบมาแล้วว่าจะมีคนร้ายนำเมทแอมเฟตามีนไปซ่อนไว้ที่นั่น เจ้าพนักงานตำรวจที่ไปตรวจค้นจับกุมต่างไม่รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน คงไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านดังกล่าวในวันที่ไปตรวจค้นนั้นเอง และปรากฏว่าตรวจพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,000 เม็ด อยู่ที่บ้านดังกล่าวตรงตามที่ได้รับแจ้ง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ก็เบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางไปฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นการให้การในทันทีที่ถูกจับกุมและในชั้นสอบสวนตอนแรกจำเลยที่ 1 ก็ยังให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาฝากไว้ชั่วคราว แล้วเพิ่งเปลี่ยนใจให้การปฏิเสธในภายหลัง เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพไปด้วยความสมัครใจ โดยไม่มีข้ออันควรระแวงสงสัยว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมหรือสอบสวนนั้นจะร่วมมือกันกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 และบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสารภาพ เนื่องจากเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใจให้การปฏิเสธในภายหลัง พนักงานสอบสวนก็ยังบันทึกไว้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ได้นำตัวสายลับมาเบิกความ ร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพเป็นเพียงพยานบอกเล่ารับฟังข้อมูลมาจากสายลับ คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักและไม่น่าเชื่อถือ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกจับที่บ้านของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ล้วนแต่โจทก์ทำขึ้นเอง พยานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัยหลายประการต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานโดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำสายลับมาเป็นพยานอีก ทั้งข้อมูลที่พยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังมาจากสายลับก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนมีการวางแผนจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนข้อเท็จจริงขณะที่มีการตรวจพบของกลางและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่พบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักในการรับฟังส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกจับได้ที่บ้านของจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำถุงพลาสติกที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนมาฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ประมาณ 10 นาที เจ้าพนักงานตำรวจก็มาจับกุมจำเลยที่ 1 ขณะยังอยู่บริเวณหน้าบ้านจำเลยที่ 2 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งง่ายที่จะนำมากล่าวอ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่อ้างว่าพยานโจทก์มีข้อพิรุธสงสัยหลายประการนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หยิบยกเอาข้อเท็จจริงบางเรื่องซึ่งไม่ตรงกับที่พยานโจทก์เบิกความมาอ้างอิงในฎีกา ทั้งบางเรื่องก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อยหาใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 46,000 เม็ด ดังกล่าวไว้ในครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โจทก์นำสืบโดยมีร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งหก เบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าเมื่อพยานโจทก์ทั้งสองจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 46,000 เม็ด จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพและบอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่ารับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่อและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดให้จำเลยที่ 3 ไปรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนที่บริเวณห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า เวลา 1.30 นาฬิกา ของวันที่ 11 ธันวาคม 2541 เมื่อจำเลยที่ 3 ไปตามนัดก็ถูกจับทันที และจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 5 จำนวน 100,000 เม็ด แต่จำหน่ายไปบางส่วนแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมจำเลยที่ 5 อีก โดยให้จำเลยที่ 3 ใช้โทรศัพท์นัดหมายจำเลยที่ 5 ไปรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนอีกเช่นกัน โดยนัดหมายที่หน้าสถานอาบอบนวดเหมยฮัวในวันดังกล่าวเวลา 2.30 นาฬิกา เมื่อจำเลยที่ 5 ไปพบตามนัดจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมยึดรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าของจำเลยที่ 5 มาเป็นของกลาง ซึ่งภายในรถยนต์มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ซุกซ่อนไว้ด้วย และจำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพว่าเมทแอมเฟตามีนนั้นจำเลยที่ 5 รับมาจากจำเลยที่ 6 และจำหน่ายไปบางส่วนแล้ว ทั้งยังพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเงินจำนวน 340,000 บาท ที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจได้ให้จำเลยที่ 5 โทรศัพท์นัดหมายจำเลยที่ 6 มารับเงินที่ขายเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 5 ที่โรงแรมสยามบริเวอรี่ เวลา 14.30 นาฬิกา เมื่อจำเลยที่ 6 มาตามนัดจึงถูกจับกุมและจำเลยที่ 6 ยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นั้น เป็นของจำเลยที่ 6 และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 270,000 บาท เป็นของกลาง นอกจากนั้นโจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจสมชายเจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 5 เบิกความสนับสนุนว่า พยานร่วมกับร้อยตำรวจเอกบัญชาและจ่าสิบตำรวจสมภพกับพวกจับกุมจำเลยที่ 5 และพยานเป็นผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าของจำเลยที่ 5 ไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยมีจำเลยที่ 5 และร้อยตำรวจเอกบัญชานั่งไปด้วย และพยานอยู่ด้วยในขณะที่มีการตรวจค้นรถยนต์ของจำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 5 รับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่พบในรถยนต์เป็นของจำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 3 ไม่รู้จักจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 เหตุที่จำเลยที่ 3 ถูกจับก็เพราะบังเอิญไปอยู่ในจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจไปดักรอคนร้าย เมทแอมเฟตามีนที่พบในรถยนต์ของจำเลยที่ 5 ไม่ใช่ของจำเลยที่ 5 เงินที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ใช่เงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายบังคับให้รับสารภาพ เห็นว่า โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นประจักษ์พยานยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการนำสืบดังที่กล่าวมา โดยมีบันทึกการจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามเอกสารหมาย ป.จ.3 จ.6 จ.8 และ จ.9 เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน กรณีดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ต่างให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของเมทแอมเฟตามีนของกลางจากผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นทอดๆ จนเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้ในเวลาที่ต่อเนื่องกันแต่คนละสถานที่ ทั้งนี้เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมรู้ดีว่าคนที่ร่วมกระทำความผิดกับตนเองนั้นเป็นใคร ซึ่งปรากฏว่าบุคคลที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อ้างถึงมีตัวตนอยู่จริง ถ้าหากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไม่ให้การถึงหรือชี้เบาะแสช่วยเหลือแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้วก็เป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้อย่างรวดเร็วเช่นนั้น และหากจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้กระทำความผิดจริงแล้ว ก็ควรที่จะให้การปฏิเสธ ไม่ควรยอมรับสารภาพและไม่ควรที่จะยอมร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งย่อมจะเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยที่ถูกซัดทอดมาดำเนินคดีได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทุกคนล้วนแต่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและในการสอบสวนครั้งแรกและจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจากที่พักจำนวน 340,000 บาท และ 270,000 บาท ตามลำดับอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าการรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ดังกล่าวเป็นการรับสารภาพด้วยความสมัครใจ มิได้ถูกทำร้ายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าในการสอบสวนเพิ่มเติม จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต่างให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนก็บันทึกไว้ตามนั้น โดยไม่ได้ทำให้จำเลยดังกล่าวรับสารภาพอีก ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.6 จ.8 และ จ.9 ซึ่งเชื่อได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ถูกจับและถูกสอบสวนในครั้งแรกนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานยังไม่ทันคิดจะบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น ที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 นำสืบทำนองว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายขู่เข็ญบังคับและล่อลวงให้รับสารภาพก็ดี ให้ลงชื่อในเอกสารโดยไม่ทราบข้อความก็ดี จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยโดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ รูปคดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,000 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 นอกจากร่วมกันกับจำเลยอื่นมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอีก 2,000 เม็ด โดยถือว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเป็นจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 5 รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 6 แล้วมอบให้แก่จำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำไปมอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปแบ่งปันกันเป็นทอด ๆ อันมีลักษณะของการกระทำความผิดเป็นขบวนการ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 รับว่าจำเลยที่ 1 รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 3 เมื่อจับจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 3 รับว่ารับแมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 5 และเมื่อจับจำเลยที่ 5 ได้ จำเลยที่ 5 รับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ได้ช่วยติดต่อ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถวางแผนขยายผลการจับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ร่วมขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษในคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงเป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน เห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 คนละ 40 ปี ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 6 คนละตลอดชีวิต คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 คนละ 26 ปี 8 เดือน และเมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 แล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 6 คนละ 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share