คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ที่ตกลงว่าหากผู้เช่าจะให้เช่าช่วงต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า ไม่ใช่สาระสำคัญที่คู่สัญญาจำต้องปฏิบัติ การที่บริษัท จ. ผู้เช่าเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถนำอาคารพาณิชย์ที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า ประกอบกับการเช่าทรัพย์สินผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จ. และเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่านำอาคารพาณิชย์ไปให้โจทก์ร่วมเช่าและได้เงินต่างๆ ไปจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วม จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ศาลพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาเพราะว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ร่วมเนื่องจากขาดเจตนาทุจริต แต่ศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบางส่วน เงินค่าประกันอาคารและอุปกรณ์ เงินค่าเซ้ง และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟไปจากโจทก์ร่วม แต่ทางนำสืบของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมได้ชำระค่าเช่านอกจากค่าเช่าล่วงหน้าเท่าใด อาคารและอุปกรณ์เสียหายเพียงใด เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามีการค้างชำระหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เช่านานเท่าใด ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในส่วนคดีแพ่งได้ว่ามีเพียงใด หากจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ก็จะทำให้คดีอาญาเนิ่นช้าศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมไปฟ้องคดีแพ่งใหม่ ตามมาตรา 41

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2543 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยหลอกลวงนางบุษยาผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าอาคารพาณิชย์ 5 ชั้น เลขที่ 325/118 และเลขที่ 325/119 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และมีสิทธิให้บุคคลอื่นเช่าอยู่อาศัยได้ ซึ่งความจริงตึกแถวดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายภิญญูและจำเลยไม่มีสิทธิให้บุคคลอื่นเช่าอยู่อาศัยได้ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงเช่าตึกแถวดังกล่าวและส่งมอบเงินค่าเซ้ง ค่าเช่าล่วงหน้าค่าประกันความเสียหาย เงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟฟ้าและค่าเช่า สำหรับตึกแถวเลขที่ 325/118 และเลขที่ 325/119 เป็นเงิน 510,000 บาท และ 414,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 924,000 บาท ให้แก่จำเลยไปตามที่จำเลยหลอกลวงนั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 924,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางบุษยาผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง คงจำคุกรวม 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์เฉพาะคดีแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเห็นสมควรเป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า นายภิญญูเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์ 5 ชั้น เลขที่ 325/118 และเลขที่ 325/119 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2540 โดยมีนายสมชัย ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยและจำเลยกับพวกรวม 7 คน เป็นผู้เริ่มก่อการ ปรากฏตามหนังสือบริคณห์สนธิเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 บริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด โดยนายสมชัยได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหาดังกล่าวจากนายภิญญูมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2541 ปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่า (ระบุว่านายสมชัยเป็นผู้เช่า) ปรากฏตามสำเนาค้ำประกันด้านหลังสัญญาเช่า หลังจากนั้นในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องโจทก์ร่วมได้ทำสัญญาเช่า อาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 ทั้งหลังและอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 เฉพาะชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 5 มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 ชั้นล่างเพิ่มเติมปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ตามลำดับในการทำสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าล่วงหน้า 6 เดือน เดือนละ 50,000 บาท ค่าประกันอาคารอุปกรณ์ 40,000 บาท และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟฟ้า 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาท สำหรับอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 ชำระค่าเซ้ง 150,000 บาท ค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน เดือนละ 12,000 บาท และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 196,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าอาคารพาณิชย์สองคูหาเดือนละ 50,000 บาท และเดือนละ 12,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนมีนาคม 2543 รวมเป็นเงิน 186,000 บาท และชำระค่าเช่าเดือนเมษายน 2543 เป็นเงิน 32,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ร่วมมิได้ชำระค่าเช่าเลย ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2543 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ แม้สัญญาเช่าระหว่างนายภิญญูและบริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด ในข้อ 5 ตามสำเนาเช่าเอกสารหมาย จ.1 จะระบุว่า ผู้เช่าไม่มีสิทธินำไปให้บุคคลเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็มิได้นำนายภิญญูมาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ข้อตกลงตามข้อ 5 นั้น ถือเป็นสาระสำคัญที่คู่สัญญาปฏิบัติ ข้ออ้างที่ว่านายภิญญูอายุมากแล้ว ไม่ใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพราะจำเลยไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบโดยการถามค้าน ข้อเท็จจริงกลับปรากฏจากคำเบิกความของนายสมบัติซึ่งเป็นบุตรชายของนายภิญญูว่า เมื่อนายภิญญูทราบว่า จำเลยนำไปให้โจทก์ร่วมเช่าช่วงก็ไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า ประมาณเดือนสิงหาคม 2542 พยานเห็นหน้าอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 เขียนป้ายข้อความว่าขายหรือให้เช่า แสดงให้เห็นว่าป้ายดังกล่าวติดไว้โดยเปิดเผยและชัดเจนดังนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่านายภิญญูและนายสมบัติน่าจะเห็นข้อความดังกล่าวเช่นกัน ทั้งโจทก์ร่วมยังเบิกความว่า ขณะตกลงเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 นั้น จำเลยให้เช่าเฉพาะชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 5 ส่วนชั้นล่างมีบุคคลอื่นเช่า จำเลยบอกว่า หากบุคคลที่เช่าชั้นล่างไม่เช่าต่อก็จะให้พยานเช่าและเมื่อพยานเห็นว่าไม่มีบุคคลทำห้องอาหารชั้นล่าง พยานสอบถามแล้ว จำเลยบอกว่าบุคคลที่เช่าไม่ได้ติดต่อเช่าต่อ พยานจึงขอเช่าชั้นล่างจากจำเลย คำเบิกความของโจทก์ร่วมจึงเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า อาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 และ 325/119 จำเลยเช่ามาจากนายภิญญู โดยชั้นล่างอาคารพาณิชย์ เลขที่ 325/118 ทำเป็นห้องอาหาร ส่วนชั้นบนของอาคารพาณิชย์ (ชั้นที่ 2 ถึงที่ 5) รวมทั้งอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 ได้แบ่งเป็นห้องๆ ให้บุคคลอื่นเช่า โดยนายภิญญูยอมให้จำเลยนำอาคารพาณิชย์ไปแบ่งให้เช่า ยิ่งกว่านั้นได้ความว่า บริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด ไม่เคยค้างชำระค่าเช่าเลย กลับได้ความว่า โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยเพียงเดือนเมษายน 2543 เพียงครึ่งเดียว หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าที่ค้างเลย ที่โจทก์ร่วมและนายสมบัติเบิกความว่านายสมบัติไปเก็บค่าเช่าเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 โจทก์ร่วมจึงทราบว่า อาคารพาณิชย์ที่เช่าเป็นของนายภิญญู ดังนั้นนายสมบัติกับนายภิญญู จึงทราบว่าจำเลยนำอาคารพาณิชย์ไปให้โจทก์ร่วมเช่าอันเป็นการผิดสัญญาเช่าก็มีพิรุธไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์ร่วมเช่าเพื่อเปิดกิจการศูนย์ดำน้ำต้องตกแต่งอาคารซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความว่า ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,000,000 บาท ซึ่งหากเป็นจริงแสดงว่าต้องปรับปรุงอาคารอย่างมาก หากฝ่ายนายภิญญูซึ่งรวมทั้งนายสมบัติเป็นผู้ไปเก็บค่าเช่าจากจำเลยแล้วก็น่าจะพบการตกแต่งอาคารและพบโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารดังกล่าวตั้งแต่โจทก์ร่วมเข้าไปอยู่ในอาคารแล้วอย่างช้าไม่เกิน 2 เดือน นับแต่ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ ซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความว่า ทำสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 คงไม่น่าจะเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วทราบเรื่องในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ดังที่โจทก์ร่วมและนายสมบัติเบิกความ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังมีพิรุธน่าสงสัยว่าสัญญาเช่าตามข้อ 5 เป็นสาระสำคัญที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติหรือไม่ ส่วนพยานหลักฐานจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สัญญาเช่าตามข้อ 5 ที่ว่าต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือหากจะให้เช่าช่วงนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญที่คู่สัญญาจำต้องปฏิบัติ กล่าวคือฝ่ายบริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด ผู้เช่าเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถนำอาคารพาณิชย์ที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากนายภิญญูผู้ให้เช่าประกอบกับการเช่าทรัพย์สินผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ฉะนั้นที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด และเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์นำไปให้โจทก์ร่วมเช่า จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในส่วนคดีแพ่งว่า จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 924,000 บาท แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ คดีนี้แม้ศาลจะยกฟ้องคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ร่วม เนื่องจากขาดเจตนาทุจริต แต่ศาลต้องวินิจฉัยส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตามกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ร่วมคือ เงินค่าเช่าบางส่วน เงินค่าประกันอาคารอุปกรณ์ เงินค่าเซ้ง และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟ แต่ทางนำสืบของโจทก์ร่วมและจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมได้ชำระค่าเช่านอกจากค่าเช่าล่วงหน้าเท่าใด อาคารและอุปกรณ์เสียหายเพียงใด เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามีการค้างชำระหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เช่านานเท่าใด ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในส่วนคดีแพ่งว่ามีเพียงใด หากจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ก็จะทำให้คดีอาญาเนิ่นช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมไปฟ้องคดีแพ่งใหม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 41
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยในส่วนคดีแพ่งแก่โจทก์ร่วม จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในส่วนคดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นศาลชั้นฎีกาโจทก์ร่วมมิได้ชำระจึงไม่มีค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ที่จะคืน”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะฟ้องจำเลยในส่วนคดีแพ่งใหม่กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่คืนระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยให้เป็นพับ

Share