คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16300/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ความหมายของคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดความหมายของคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า
(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
(2) ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) ดังต่อไปนี้
(ก) เครื่องจักรกลต้นกำลังที่มีการออกแบบตัวเครื่องและอุปกรณ์ประกอบตัวเครื่องให้มีลักษณะหรือสภาพเพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องมือตาม (1) โดยเฉพาะ ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า
(ข) แผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขนาดกำลังแรงม้าไม่ชัดเจน แต่แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกิน 12 นิ้ว แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันมาว่าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า คงกล่าวแต่เพียงว่า แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ต้องด้วยความหมายของคำว่า เลื่อยโซ่ยนต์ ตามกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 แล้ว เพราะใน (2) กำหนดความหมายเลื่อยโซ่ยนต์ ให้หมายถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ซึ่งก็คือเครื่องจักรกลต้นกำลังหรือแผ่นบังคับโซ่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางข้างต้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ขอให้ริบของกลางตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้ริบ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง มาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบไม้พะยูงและเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 69 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 73 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานทำไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน และฐานมีไม้ซึ่งยังไม่ได้แปรรูปจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมายเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายเพียงว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ความหมายของคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดความหมายของคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า
(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
(2) ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) ดังต่อไปนี้
(ก) เครื่องจักรกลต้นกำลังที่มีการออกแบบตัวเครื่องและอุปกรณ์ประกอบตัวเครื่องให้มีลักษณะหรือสภาพเพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องมือตาม (1) โดยเฉพาะ ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า
(ข) แผ่นบังคับโซ่ ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงขนาดกำลังแรงม้าไม่ชัดเจน แต่แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกิน 12 นิ้ว แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันมาว่าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า คงกล่าวแต่เพียงว่า แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ต้องด้วยความหมายของคำว่า เลื่อยโซ่ยนต์ ตามกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 แล้ว เพราะใน (2) กำหนดความหมายเลื่อยโซ่ยนต์ ให้หมายถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ซึ่งก็คือ เครื่องจักรกลต้นกำลังหรือแผ่นบังคับโซ่ ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางข้างต้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามที่โจทก์ขอให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้ริบ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง มาตรา 73 แห่งระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน ริบไม้พะยูงและเลื่อยโซ่ยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share