คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การท้ากันในศาลก็คือการแถลงร่วมกันของคู่ความตกลงกันให้ศาลตัดสินชี้ขาดตามข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่คู่ความมีความเห็นตรงกันข้ามในเหตุการณ์ภายหน้าอันไม่แน่นอนและจะแน่นอนได้ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งถ้าเหตุการณ์นั้นตรงกับความเห็นของฝ่ายใด ศาลจะต้องตัดสินให้ในฝ่ายนั้นชนะ
คู่ความมีข้อตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ให้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาทใหม่ หากปรากฏว่าหลักหมุด จ. 1078 ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยทั้งห้า โจทก์จะเป็นฝ่ายแก้ไขโฉนดให้มาในแนวตรงที่วัดระหว่างหลักหมุด ค. 4463 กับหลักหมุด คก. 5 หรือหลักหมุด ค. 4483 แต่ถ้าหากหลักหมุด จ. 1078 ไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าจะรื้อถอนรั้วที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แล้วคู่ความจะเลิกคดีกันโดยโจทก์จะถอนฟ้อง ปัญหาว่าหลักหมุด จ. 1070 อยู่ในที่ดินของโจทก์หรือจำเลยทั้งห้าเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้คดีแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว เป็นเรื่องที่คู่ความไม่ประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานไปตามปกติแต่จะยอมรับข้อเท็จจริงกันตามที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตมาแล้ว จึงมีลักษณะเป็นคำท้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 มีผลใช้บังคับได้ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการมาตามข้อตกลงแล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามนั้น ไม่ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนเสารั้วคอนกรีตและลวดหนามที่ฝ่ายจำเลยทั้งห้าปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ให้นำไปปักในแนวเขตที่ดินของโจทก์และของจำเลยทั้งห้าระหว่างจุดหลักหมุดที่ 1070 ตรงไปยังหลักหมุดที่ 4483 ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทและเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งออกโดยมิชอบเสีย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2539 ไม่ใช่คำท้าแต่เป็นข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การเจรจาประนีประนอมยอมความเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ตกลงยินยอม ศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานจนสิ้นกระแสความเพื่อนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในบริเวณที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนเสาคอนกรีตและลวดหนามออกจากที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในแนวเขตที่ดินระหว่างหลักหมุดที่ จ. 1070 (1078) ตรงไปยังหลักหมุดที่ ค. 4483 (คก. 5) ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนการพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2539 เป็นคำท้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในเรื่องคำท้าตามรายงานกระบวนการพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2539 ตามรูปคดีใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 เมษายน 2539 เป็นคำท้าหรือไม่ เห็นว่า การท้ากันในศาลก็คือการแถลงร่วมกันของคู่ความตกลงกันให้ศาลตัดสินชี้ขาดตามข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ที่คู่ความมีความเห็นตรงกันข้าม ในเหตุการณ์ภายหน้าอันไม่แน่นอนและจะแน่นอนได้ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งถ้าเหตุการณ์นั้นตรงกับความเห็นของฝ่ายใด ศาลจะต้องตัดสินให้ในฝ่ายนั้นชนะ
คดีนี้ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในบริเวณที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ตามข้อตกลงรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 เมษายน 2539 คู่ความไม่ประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานไปตามปกติแต่จะยอมรับข้อเท็จจริงกันตามที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตมาแล้ว หากปรากฏว่าหลักหมุด จ. 1078 ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยทั้งห้า โจทก์จะเป็นฝ่ายแก้ไขโฉนดให้มาในแนวตรงที่วัดระหว่างหลักหมุด ค. 4463 กับหลักหมุด คก. 5 หรือหลักหมุด ค. 4483 แต่ถ้าหากหลักหมุด จ. 1078 ไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าจะรื้อถอนรั้วที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แล้วคู่ความจะเลิกคดีกันโดยโจทก์จะถอนฟ้อง ปัญหาว่าหลักหมุด จ. 1070 อยู่ในที่ดินของโจทก์หรือจำเลยทั้งห้าเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้คดีแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นคำท้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 มีผลใช้บังคับได้ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการมาตามข้อตกลงแล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามนั้น ไม่ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
พิพากษายืน.

Share