แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นโมฆียะเพราะผู้ร้องถูกกลฉ้อฉลของจำเลยเมื่อผู้ร้องบอกล้างแล้วนิติกรรมจึงเป็นโมฆะ คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความย่อมผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งการที่ผู้ร้องบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลย จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาซื้อขายและมิใช่คู่ความในคดีก่อนอันเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160
คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้องมิได้บรรยายว่า โจทก์ทราบถึงกลฉ้อฉลของจำเลยอันจะเป็นประเด็นว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตผู้ร้องจะยกเอาการบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3667 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของผู้ร้อง เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของนายเขียว โภคพันธ์ สามีผู้ร้องเมื่อนายเขียวตายจึงตกได้แก่ผู้ร้องจำเลยที่ 1 มาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 บุตรผู้ร้องที่บ้านของผู้ร้อง ต่อมาปี 2538 จำเลยที่ 1รับอาสาไปดำเนินการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินพิพาทเป็น น.ส.3 ก.หรือโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องเนื่องจากผู้ร้องเขียนและอ่านหนังสือไม่ได้จำเลยที่ 1 พาผู้ร้องไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอสิงหนคร และให้ผู้ร้องพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารต่าง ๆ 2 ครั้ง ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2539 ผู้ร้องทราบจากนายเอี่ยมศรี แซ่ฟง บุตรผู้ร้องอีกคนหนึ่งว่าที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและจำนองไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำกัดผู้ร้องไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินแล้วจึงทราบว่า จำเลยที่ 1หลอกลวงให้ผู้ร้องพิมพ์ลายนิ้วมือโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมาให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดภาระติดพัน คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3667 เนื้อที่ 1 งาน47 ตารางวา เดิมมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่า ผู้ร้องขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2538 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามคำขอของโจทก์และเมื่อวันที่ 5 กันยายน2540 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนั้นในวันที่ 14มีนาคม 2540 ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกลับคืนให้ผู้ร้องโดยปลอดภาระติดพันหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา แต่ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต คดีถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4617/2540 ของศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า ศาลพิพากษาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะคดีถึงที่สุดแล้วย่อมใช้ยันโจทก์ได้ และผู้ร้องใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 โดยสุจริตมิใช่เป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4617/2540 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลผู้ร้องให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1ผู้ร้องบอกล้างโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 181 แล้ว ถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะแต่เริ่มแรก ดังนี้ แสดงว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะเพราะผู้ร้องถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องบอกล้างแล้วนิติกรรมจึงเป็นโมฆะ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความย่อมผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งการที่ผู้ร้องบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาซื้อขาย และมิใช่คู่ความในคดีก่อนอันเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 คำร้องขอของผู้ร้องบรรยายไว้เพียงว่าก่อนนำยึดที่ดินพิพาทโจทก์ทราบแล้วว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้อายัดที่ดินพิพาทไว้แล้วเท่านั้น มิได้บรรยายว่า โจทก์ทราบถึงกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 อันจะเป็นประเด็นว่า โจทก์ไม่สุจริตอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องจะยกเอาการบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่
พิพากษายืน