คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3(1) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120,121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2538 สั่งจ่ายเงินจำนวน 75,000 บาท ให้แก่นางรัตน์ธิดา ผัดจันตา ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้เสียหายนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้จะฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 มอบให้ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำนวนเงินอันเป็นมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยเข้าไว้ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนมากโดยไม่คิดดอกเบี้ยต่อกัน ทั้งไม่น่าเชื่อด้วยว่าเมื่อตกลงให้กู้ยืมเงินแล้วผู้เสียหายจะให้จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้ล่วงหน้าแต่เฉพาะต้นเงินกู้ โดยไม่รวมจำนวนเงินดอกเบี้ยที่จำเลยตกลงจะชำระแก่ผู้เสียหายเข้าไปด้วย ดังนั้น ข้อที่ผู้เสียหายเบิกความอ้างว่า จำเลยออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน 75,000 บาท ชำระหนี้ต้นเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่อาจรับฟังได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยไว้และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยด้วยกัน ดังที่จำเลยอ้างตนเป็นพยานเบิกความว่า จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เข้าไว้ด้วย สอดคล้องกับนางสาวนงลักษณ์ ปวงจันทร์หอม พยานจำเลยซึ่งรับราชการครูและรู้จักผู้เสียหายเบิกความว่า เคยกู้ยืมเงินผู้เสียหายโดยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน พยานหลักฐานจำเลยจึงประกอบด้วยเหตุผลและมีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนเข้าไว้ด้วย ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3(1) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120, 121 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share