แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสุราแช่และทำสุรากลั่น กับการที่จำเลยมีสุราแช่และมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ได้กระทำขึ้นคนละวันและมีไว้ในครอบครองคนละวัน การกระทำประกอบด้วยเจตนาต่างกัน ของกลางก็เป็นคนละส่วนกัน ความผิดสามารถแยกออกเป็นต่างกรรมกันได้ จึงเรียงกระทงลงโทษได้ ข้อห้ามตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสุราฯ กำหนดไว้ 2 กรณีคือ ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุรา กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้ผู้ใดมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง อีกกรณีหนึ่ง ไม่ว่าฝ่าฝืนกรณีใดจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 30 ดังนั้น ถ้าฝ่าฝืนข้อห้ามทั้ง 2 กรณีเป็นการต่างกรรมกัน จึงต้องเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมาย มาตรา 91.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรา ทำสุราแช่และมีน้ำสุราแช่ จำนวน 2,000 ลิตร ทำสุรากลั่นและมีน้ำสุรากลั่นจำนวน 167 ลิตร ขายสุรากลั้นและมีลูกแป้งเชื้อสุรา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 25, 30, 31, 32, 42 ทวิ,55 ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ที่แก้ไขแล้วและริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับลดกึ่งหนึ่งเรียงกระทงลงโทษ ฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสุรา จำคุก 3 เดือนทำสุรากลั่น จำคุก 2 เดือน ฐานทำสุราแช่ปรับ 100 บาท ฐานมีสุราแช่ ปรับ 500 บาท ฐานมีสุรากลั่น ปรับ 500 บาท ฐานขายหรือนำแสดงออกเพื่อขายปรับ 2,500 บาท ฐานมีเชื่อสุรา ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 5 เดือน ปรับ 3,700 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง เนื่องจากของกลางมีจำนวนมาก โทษจำคุกจึงไม่สมควรรอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำสุราแช่กับฐานทำสุรากลั่นเป็นการกระทำกรรมเดียวให้จำคุก 4 เดือน ฐานมีสุราแช่กับฐานมีสุรากลั่นเป็นการกระทำกรรมเดียวให้ปรับ 1,000 บาทรับลดกึ่งแล้ว ฐานทำสุราจำคุก 2 เดือน ฐานมีสุราปรับ 500 บาท รวมโทษกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำคุก 5 เดือน ปรับ 3,100บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า การทำสุราแช่และทำสุรากลั่นกับการมีสุราแช่และมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ได้กระทำขึ้นคนละวันและมีไว้ในครอบครองคนละวัน การกระทำประกอบด้วยเจตนาต่างกันของกลางก็เป็นคนละส่วนกัน ส่วนความผิดสามารถแยกออกเป็นต่างกรรมกันได้จำเลยให้การรับสารภาพจึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องเรียงกระทงลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในข้อนี้มา.