คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์และ อ. บุตรโจทก์ต่าง เป็นเจ้าของร่วมกันในสิทธิการเช่า ตึก พิพาท โดย โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิการเช่าแทน และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ โอนเป็นชื่อ ของจำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นตัวแทนของ อ. ให้เป็นผู้ถือสิทธิการเช่า แทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่า ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2515 โจทก์ได้ทำสัญญาจองตึกแถวสร้างใหม่ ในซอยราชศักดิ์ ถนนบำรุงเมือง แขวงสำราญราษฎร์เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กับนายวิชัย เหลืองวัฒนากิจ ผู้มีสิทธิปลูกสร้างอาคารบนที่ดินของนางสุรีย์ วงศ์ประทีป โจทก์ได้ชำระราคาตึกแถวให้แก่นายวิชัยครบถ้วนแล้ว ต่อมาตึกแถวดังกล่าวสร้างเสร็จ โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหลานลงชื่อเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าไว้แทนโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าตึกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานโจทก์ เพื่อฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวเป็นของโจทก์โจทก์ติดต่อขอให้จำเลยทั้งสองโอนสิทธิการเช่าคืนให้แก่โจทก์จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในรายการจดทะเบียนถือสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาท การจองตึกแถวพิพาทโจทก์เป็นผู้ลงชื่อจองไว้จริง แต่การชำระเงินค่าก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวนางอุษามารดาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระทั้งหมด เมื่อชำระเวินค่าตึกแถวครบถ้วนแล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เรียกโจทก์ไปทำสัญญาเช่า โจทก์ไม่ยอมไปทำสัญญาเพราะทราบดีว่านางอุษาเป็นผู้ออกเงินแต่ผู้เดียว และนางอุษาประสงค์จะใช้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่า แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปก่อน ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2528
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตึกแถวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในรายการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นสมควรหยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนในเบื้องต้นข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสุนีย์ แพทย์วงศ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้อนุบาลโจทก์ว่า ในการทำสัญญาจองตึกแถวพิพาทเลขที่ 176/26 โจทก์ได้ออกเงินชำระค่าจองโดยออกเป็นเช็คของนายพิเชษฐ์ ลิมปินันทนะกุล บุตรเขยโจทก์ เงินที่ออกนี้โจทก์ใช้จากเงินที่สะสมไว้เดิมกับเงินที่พวกบุตร ๆ มอบให้เมื่อสร้างตึกพิพาทเสร็จแล้วโจทก์และพยานกับบุตรหลานของโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยตลอดมาจนบัดนี้ นางนภา ครองพานิชสุม พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ด้วยเบิกความว่า เงินที่โจทก์นำไปชำระค่าจองตึกพิพาทเป็นเงินมรดกของบิดาพยาน (ซึ่งเป็นสามีของโจทก์) จากคำเบิกความข้างต้นเมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6 และ ล.2 แล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะทำสัญญาจองตึกพิพาทและชำระเงินค่าจองมาโดยตลอด แต่เงินที่โจทก์ชำระค่าจองนอกจากจะเป็นเงินของโจทก์เองบางส่วนแล้ว ยังเป็นเงินของบุตรโจทก์และเงินกองมรดกสามีโจทก์ ซึ่งบุตรโจทก์ทุกคนเป็นทายาทมีส่วนรับมรดกดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และการชำระเงินค่าจองตึกพิพาทก็ได้ชำระผ่านนายพิเชษฐ์ ลิมปินันทนะกุล สามีของนางเซี่ยมล้วน ลิมปินันทนะกุลบุตรสาวอีกคนหนึ่งของโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรนายเซียมเตี้ย แซ่โค้ว บุตรชายอีกคนของโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทแทนและเป็นผู้ถือสิทธิการเช่าตลอดมาจนกระทั่งโอนให้แก่จำเลยที่ 2นั้น บุตรโจทก์ทุกคนก็ทราบ แต่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทั้งไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษนอกจากที่อ้างว่าโจทก์อายุมากและอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้เท่านั้น จึงเชื่อได้ว่าที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหลานคนหนึ่งเป็นผู้ถือครองสิทธิการเช่าตึกพิพาทก็เพราะบุตรโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของสิทธิการเช่านั้นอยู่ด้วย ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของโจทก์อีกคนหนึ่งนั้นนางอุษา ดีเคารพคุณ บุตรโจทก์และเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 ได้ไปที่บ้านโจทก์เพื่อขอสัญญาเช่าตึกพิพาท เอกสารหมาย จ.6 ที่นางอุษาทราบว่าอยู่ที่โจทก์ เมื่อนางนภา ครองพานิชสุข ไม่ให้ อ้างว่าโจทก์ขึ้นนอนไปแล้วก็มีการไปแจ้งความว่าสัญญาเช่านั้นหายที่สถานีตำรวจท้องที่ นางนภา ครองพานิชสุข พยานโจทก์ได้เบิกความรับในข้อนี้แสดงให้เห็นว่า นางอุษา ดีเคารพคุณ มีส่วนเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าอยู่ด้วยและต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 2บุตรของนางอุษาเป็นผู้ถือสิทธิการเช่าแทนจึงได้ทวงสัญญาเช่ากับโจทก์ เมื่อไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสิทธิการเช่าตึกพิพาทตามฟ้องโจทก์และบุตรของโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิดังกล่าวแทน ต่อมาได้มีการโอนเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของนางอุษา ดีเคารพคุณ เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวเพราะทั้งโจทก์และนางอุษา ดีเคารพคุณต่างเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินพิพาท เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน.

Share