แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาถึงที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ได้เข้าไปนั่งรวมอยู่ในกลุ่มของผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 6 แล้ว จำเลยทั้งสองตามมาถึงโดยอยู่ห่างไปประมาณ 2 วา พร้อมกับใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหายทันที เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนที่ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนลูกซองสั้น และยิงในระยะใกล้ชิดเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยตรง มิใช่เป็นการกระทำโดยพลาด
ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งเครื่องแบบถูกยิงขณะที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่าถูกคนร้ายไล่ยิง และผู้เสียหายที่ 3 กำลังสอบปากคำผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ถือว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2มาจนถึงที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจได้ชัดเจน ก็ย่อมทราบได้ทันทีว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 หลบหนีเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่จำเลยทั้งสองก็ยังยิงปืนใส่กลุ่มผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 4 และที่ 5 ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้เสียหายที่ 6 ร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 5และร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทหนัก
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2), 80 แต่มิได้ปรับบทลงโทษมาด้วย และที่ศาลชั้นต้นลดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ปรับบทตามมาตรา 52(1) เป็นการไม่ถูกต้องชัดแจ้ง แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนสั้นยิ่งผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ โดยมีเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน หลังจากนั้นในเวลาต่อมาจำเลยทั้งสองได้พยายามใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ อีก แล้วผู้เสียหายทั้งสองหลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากผู้เสียหายที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ ๕ ที่ ๖ เมื่อผู้เสียหายที่ ๓ ที่ ๔ เข้าขัดขวางการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จำเลยทั้งสองได้ใช้อาวุธปืนสั้นยิงไปยังกลุ่มผู้เสียหายทั้งหกโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ ๖ ถึงแก่ความตาย และถูกผู้เสียหายที่ ๔ ที่ ๕ ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐,๘๓, ๙๑, ๒๘๘, ๒๘๙
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ ประกอบด้วยมาตรา ๖๐ วางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๖ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ ประกอบมาตรา ๕๒(๒) แล้ววางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๓จำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๓๓ ปี ๔ เดือนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเริ่มจากผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปพบจำเลยที่ ๒ ที่ตลาด ผู้เสียหายที่ ๒ ได้ชี้หน้าจำเลยที่ ๒แล้วผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ มาจอดรถคุยกับพวกที่ราวรั้วเหล็กหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จนจำเลยทั้งสองได้ตามหาและพบผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกต้องหนีไปหลบอยู่หลังที่ว่าการอำเภอและเมื่อผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ เข้าไปในตลาดอีกก็พบจำเลยทั้งสองดักรออยู่และไล่ตามผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ มายิงใส่กลุ่มผู้เสียหายที่ริมถนนหน้าท่าเรือไปเกาะสมุย เห็นว่าอาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงยิงถูกผู้ใดทำให้ถึงแก่ความตายได้ ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งเครื่องแบบถูกยิงขณะที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ ว่าถูกคนร้ายไล่ยิง และผู้เสียหายที่ ๓ กำลังสอบปากคำผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไล่ตามผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ มาจนถึงที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจได้ชัดเจน ก็ย่อมจะทราบได้ทันทีว่าผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ หลบหนีเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จำเลยทั้งสองก็ยังยิงปืนใส่กลุ่มผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๖ถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้เสียหายที่ ๖ ร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ และร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทหนัก ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ผู้เสียหายที่ ๓ ถึงที่ ๖ ซึ่งนั่งรวมกันอยู่ที่ร้านขายข้าวต้มแผงลอยแล้ว และผู้เสียหายที่ ๓ กำลังสอบปากคำผู้เสียหายที่ ๑และที่ ๒ อยู่ จำเลยทั้งสองก็ตามมาถึงโดยอยู่ห่างไปประมาณ ๒ วาพร้อมกับใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหายทันที เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนที่ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนลูกซองสั้น และยิงในระยะใกล้ชิดเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายโดยตรง มิใช่เป็นการกระทำโดยพลาด นอกจากนี้ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๒), ๘๐แต่มิได้ปรับบทลงโทษมาด้วย ทั้งการที่ศาลชั้นต้นลดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ ๑ ก็มิได้ปรับบทตามมาตรา ๕๒(๑) เป็นการไม่ถูกต้องชัดแจ้งแม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๘๙(๒) ประกอบมาตรา ๘๓, ๘๐ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘, ๘๓ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๑ วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๖ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ ประกอบมาตรา ๕๒(๒) แล้ววางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒(๑), ๕๓ แล้วจำเลยที่ ๑ ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก.