คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4578/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซ. จำกัด ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เลิกบริษัทแล้ว และตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชี ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องบริษัทดังกล่าวในข้อหาผิดสัญญาจ้างทำของเรียกค่าจ้าง ว่าความซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สมยอมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้บริษัทชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และศาลมีคำพิพากษาตามยอม ยังผลให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็น เจ้าหนี้ที่แท้จริงต้องเสียเปรียบ สัญญาที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำขึ้นดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉล ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งห้าซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นระหว่างลูกหนี้อันได้แก่บริษัทซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ทำการแทนกับบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกอันได้แก่จำเลยที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กับมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหรือทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ทั้งห้าร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสาม หาใช่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าไม่ โจทก์ทั้งห้าชอบที่จะกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าหนี้บริษัทจริงหรือไม่ และสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกระทำลงโดยจำเลยทั้งสาม รู้เท่าถึงความจริง อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าต้องเสียเปรียบหรือไม่ ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้ครบถ้วนเสียก่อน

Share