คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5191/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับพิพาทฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้คงมีผู้แทนนายจ้างลงลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียวส่วนบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฉบับลงวันที่เดียวกับบันทึกข้อตกลงแม้จะปรากฏว่าผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างต่างได้ลงลายมือชื่อไว้แต่จากบันทึกดังกล่าวมีข้อความแสดงให้เป็นเพียงว่าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจัดทำบันทึกนี้ไว้เพื่อให้ทราบว่าฝ่ายลูกจ้างไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรวมทั้งขั้นตอนและการปฏิบัติของคู่กรณีในการเจรจาต่อรองซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงที่มีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายการที่ผู้แทนลูกจ้างลงลายมือชื่อในบันทึกนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างพร้อมกับบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฉบับดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างตามกฎหมายเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา18วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมข้อวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อในแบบพิมพ์คำร้องมีข้อความว่าโจทก์รอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้วจึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วโจทก์มีเวลามากพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนี้ได้แต่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31 อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์นอกประเด็นจากที่คู่ความแถลงขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบสี่เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยทั้งสิบสี่ได้มีคำสั่งที่ 23, 24/2538 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหารวมหกสิบคน ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อให้เพิกถอนคำสั่งที่ 23, 24/2538 ของจำเลยทั้งสิบสี่
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้กล่าวหาทั้งหกสิบคนเพราะเหตุที่ผู้กล่าวหาลงชื่อสนับสนุนและชุมนุมนัดจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ถ้านายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ได้แล้วให้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงานแล้วแต่กรณี” แต่ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 และบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 นั้น ปรากฏว่าฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 คงมีผู้แทนนายจ้างลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงนี้เพียงฝ่ายเดียวส่วนบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 แม้จะปรากฏว่าผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ แต่จากบันทึกดังกล่าวมีข้อความแสดงให้เห็นเพียงว่าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจัดทำบันทึกนี้ไว้เพื่อให้ทราบว่าฝ่ายลูกจ้างไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง รวมทั้งขั้นตอนและการปฏิบัติของคู่กรณีในการเจรจาต่อรอง ซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงที่มีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่าย การที่ผู้แทนลูกจ้างลงลายมือชื่อในบันทึกนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีรับฟังได้ว่าฝ่ายลูกจ้างยังไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับฝ่ายนายจ้าง ดังนั้น บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 พร้อมกับบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ฉบับลงวันที่27 มิถุนายน 2538 จึงไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมาย เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2538 ขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายเพิ่มเติมจากที่คู่ความแถลงในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่ากรณีไม่มีเหตุอันสมควร ไม่อนุญาตคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมข้อวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2538 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้อง เมื่อในแบบพิมพ์คำร้องมีข้อความว่า โจทก์รอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วปรากฏว่าศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538โจทก์มีเวลามากพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนี้ได้ แต่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การนัดหยุดงานของลูกจ้างผู้กล่าวหาทั้งหกสิบคน หลังจากวันที่ 27 มิถุนายน 2538 จนถึงวันที่โจทก์เลิกจ้างเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรกับที่อุทธรณ์ว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสิบสี่กำหนดให้โจทก์จ่ายแก่ลูกจ้างผู้กล่าวหาทั้งหกสิบคน เป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกับค่าเสียหายที่ลูกจ้างผู้กล่าวหาทั้งหกสิบคนฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่7803-7871/2538 ระหว่าง นางสมถวิล อ้วนล่ำ กับพวกรวมหกสิบเก้าคนโจทก์ บริษัทสกายบัตเตอร์ฟลาย จำกัด จำเลยนั้น เห็นว่า เป็นอุทธรณ์นอกประเด็นจากที่คู่ความแถลงขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share