คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8794/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ตายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นอันตกไป กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอากับจำเลยเป็นคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางทศพร ภริยานายธีระวัฒน์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 3,966,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3) (4) (6), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยชำระเงิน 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2553) (ที่ถูก วันที่ 27 พฤษภาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม คำขออื่นให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอื่นของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายให้จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้คุมความประพฤติ 1 ปี ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละฐานความผิดไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยประมาทฝ่ายเดียว ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาจึงมีอำนาจจัดการแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 5 (2) พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ตายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ในคดีนี้ย่อมเป็นอันตกไป กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอากับจำเลยเป็นคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม

Share