แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อย่างไรเรียกว่าป้องกันตัวและทรัพย์สมควรแก่เหตุ วิธีพิจารณาอาญา ลักษณอุทธรณ์ เหตุในลักษณคดีจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ขึ้น เมื่อมีเหตุในลักษณคดีที่จำเลยควรได้รับตามกฎหมายแล้วศาลยกเหตุนั้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผลได้
ย่อยาว
ได้ความว่ามีผู้ร้ายมาถอดกลอนคอกโคเพื่อจะลักโคของจำเลย ผู้ร้ายหนี จำเลยไล่ตามทันจึงฟันผู้ร้ายไป ๑ ทีถูกศีร์ษะ ผู้ร้ายหันมาเงื้อขวานจะฟันจำเลย ๆ จึงฟันผู้ร้ายไปอีกหลายที ปรากฏว่าถูกผู้ร้ายมีบาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัสรวม ๑๘ แผล พอผู้ร้ายล้มจำเลยก็หยุดฟัน ผู้ร้ายรักษาแผลอยู่ ๒ เดือนเศษก็ตายเพราะพิษบาดแผลนั้น โจทก์จึงขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๔๙-๒๕๐
ศาลเดิมตัดสินว่าจำเลยทำร้ายผู้ร้ายโดยป้องกันเกินกว่าเหตุ มีผิดตาม ม.๒๔๙-๕๓ ให้จำคุกไว้ ๖ เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้
ศาลอุทธรณ์ตัดสินกลับว่า จำเลยทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุตาม ม.๕๐ ไม่ควรมีผิด แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ก็ควรได้รับผลตามบัญญัติ จึงให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่าที่จำเลยฟันผู้ตายครั้งแรกนั้นก็เพื่อจะจับกุมผู้ตาย ทั้งไม่ปรากฏว่าบาดแผลนั้นถึงสาหัส ที่ผู้ตายถูกทำร้ายถึงสาหัสนั้นก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ตายหันกลับมาต่อสู้จำเลย ๆ จึงฟันตอบไปเพื่อป้องกันตัวและจับผู้ตาย และเปนเวลาเดือนมืดจึงเปนการยากที่จำเลยจะทราบว่าฟันกี่ทีจึงจะสมควร จึงตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์