คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้ว อันเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงแต่อนุญาตให้สมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้ได้เข้าทำประโยชน์เท่านั้น แม้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถนำที่ดินของรัฐที่ทำประโยชน์อยู่ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสองก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิได้มอบสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์เด็ดขาดให้แก่ผู้ใด จำเลยเพิ่งจะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากนิคมสหกรณ์สระแก้วให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้ว ดังนั้น แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ม. และทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2550 ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนิคมสหกรณ์สระแก้วได้ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 แต่ที่ดินพิพาทก็มิใช่ที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย เดิมโจทก์มีภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 600 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 โจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 600/1 หมู่ที่ 4 ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ดังนั้น ก่อนออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือน ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 13 แม้โจทก์จะอ้างว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากถูก ส. พี่สาวโจทก์หลอกก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่กับหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วนั้น เท่ากับโจทก์รู้แล้วว่าโจทก์พ้นจากการเป็นสมาชิกเพราะไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือนจึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการที่หัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเรียกโจทก์ไปพบเพื่อสอบถามเรื่องการสละสิทธิในที่ดินพิพาทนั้นยังถือได้ว่านิคมสหกรณ์สระแก้วทราบถึงการแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว พฤติการณ์ของโจทก์ที่สละสิทธิไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและย้ายไปที่อยู่อื่นแล้ว ภายหลังย้ายชื่อในทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วทั้งที่ไม่ได้มาอยู่จริงจึงเป็นเพียงเพื่อให้ได้สิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์หมดสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้วไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 แปลงเลขที่ 17 ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ 50 ไร่ กับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดิน และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางนงค์เยาว์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้อนุญาตให้โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ตามหนังสืออนุญาต ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 แปลงเลขที่ 17 หมู่ที่ 11 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ 50 ไร่ ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 ครั้นวันที่ 30 มีนาคม 2555 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดที่ดิน จำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยซึ่งทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสมาประมาณ 5 ปี โดยซื้อมาจากนางมาลี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้ว อันเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงแต่อนุญาตให้สมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้ได้เข้าทำประโยชน์เท่านั้น แม้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถนำที่ดินของรัฐที่ทำประโยชน์อยู่ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสองก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิได้มอบสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์เด็ดขาดให้แก่ผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยเพิ่งจะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ตามสำเนาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากนิคมสหกรณ์สระแก้วให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้ว ดังนั้น แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางมาลี และทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2550 ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนิคมสหกรณ์สระแก้วได้ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ตามหนังสืออนุญาต แต่ที่ดินพิพาทก็มิใช่ที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แต่เมื่อได้ความจากนางนงค์เยาว์ ภริยาของโจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2538 โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 17 ต่อมาปี 2539 โจทก์ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 600/1 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ไปอยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว วันที่ 8 เมษายน 2547 นางสมหมาย พี่สาวโจทก์หลอกพาโจทก์ไปนิคมสหกรณ์สระแก้วให้ลงลายมือชื่อในบันทึกแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาท ครั้นหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเรียกโจทก์ไปสอบถามเรื่องการสละสิทธิดังกล่าว โจทก์แจ้งว่าไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท แต่มายื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนิคมสหกรณ์สระแก้ว หัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่รับสมัครสมาชิก จากนั้นวันที่ 6 ตุลาคม 2548 โจทก์ทำบันทึกยินยอมให้นางมาลีกับนายวิวัฒน์ เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ภายหลังโจทก์ไปพบเจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์สระแก้วแจ้งว่าไม่เคยรู้จักบุคคลดังกล่าวและไม่เคยขายที่ดินพิพาท และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 จำเลยเคยคัดค้านการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ วันที่ 21 มิถุนายน 2550 นิคมสหกรณ์สระแก้วตรวจสอบแล้วแจ้งจำเลยว่า โจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทและมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 และนายธนู เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ 6 รักษาราชการแทนหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเบิกความว่า มีการสำรวจการทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้วตามระวางแผนที่ เริ่มจัดทำวันที่ 16 มกราคม 2538 เสร็จวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 ดังนั้น โจทก์น่าจะครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 17 ก่อนปี 2538 เห็นว่า การรังวัดสำรวจการทำประโยชน์ตามระวางแผนที่ ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 มีชื่อโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 17 และระหว่างวันที่ 11 ถึง 19 ธันวาคม 2538 นิคมสหกรณ์สระแก้วทำการคัดเลือกโจทก์เข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วในลำดับที่ 356 ซึ่งน่าเชื่อว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในช่วงเวลาดังกล่าวจริง แต่ตามสำเนารายการเกี่ยวบ้านพบว่า เดิมโจทก์มีภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 600 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 โจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 600/1 หมู่ที่ 4 ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 โจทก์มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วมาตั้งแต่ปี 2539 ดังที่นางนงค์เยาว์พยานโจทก์เบิกความ และนางนงค์เยาว์ยังเบิกความว่า โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงปี 2554 จึงเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการเนื่องจากเป็นโรคเบาหวาน แต่ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์จะตัดต้นยูคาลิปตัสไปขายอย่างไร พยานไม่ทราบ เนื่องจากโจทก์ให้นางสมหมายพี่สาวโจทก์ดำเนินการแทน ตั้งแต่ปี 2550 จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์อีกเลย คำเบิกความของนางนงค์เยาว์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ปี 2538 อย่างไร ทั้งยังขัดกันไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทถึงเมื่อใด เมื่อได้ความจากนายนิพนธ์ พยานโจทก์ว่า พยานเห็นโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประมาณปี 2538 ถึงปี 2539 ทั้งที่นายนิพนธ์ก็มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ แต่ก็มิได้ยืนยันว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากนั้น จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพียงช่วงปี 2538 ถึงปี 2539 เท่านั้น ประกอบกับโจทก์เคยเบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1473/2555 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ว่า โจทก์ไปอยู่จังหวัดสมุทรปราการประมาณ 4 ปี แล้ว โจทก์ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ภายหลังจากทำบันทึกแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว ตามบันทึกคำให้การโจทก์ แสดงให้เห็นว่า หลังจากโจทก์ย้ายชื่อในทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วในปี 2549 โจทก์ยังคงอยู่หรือมีภูมิลำเนาในจังหวัดสมุทรปราการตลอดมา ดังนั้น ก่อนออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ตามรายการเกี่ยวกับบ้าน กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือน ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 13 แม้โจทก์จะอ้างว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากถูกนางสมหมายพี่สาวโจทก์หลอกก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่กับหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วนั้น เท่ากับโจทก์รู้แล้วว่าโจทก์พ้นจากการเป็นสมาชิกเพราะไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือนจึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการที่หัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเรียกโจทก์ไปพบเพื่อสอบถามเรื่องการสละสิทธิในที่ดินพิพาทนั้นยังถือได้ว่านิคมสหกรณ์สระแก้วทราบถึงการแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าถูกนางสมหมายพี่สาวโจทก์หลอกก็ตาม แต่โจทก์ก็มีเพียงนางนงค์เยาว์เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2548 นางมาลีกับนายวิวัฒน์ต่างอ้างสิทธิในที่ดินพิพาท และมีโจทก์ลงลายมือชื่อในบันทึกไกล่เกลี่ย แม้วันที่ 11 กรกฎาคม 2550 โจทก์จะทำบันทึกถ้อยคำว่าไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้นางมาลีตามบันทึกถ้อยคำก็ตาม แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นเองโดยมีนางนงค์เยาว์ภริยาโจทก์และบุคคลชื่อสกุลเดียวกันกับโจทก์อีก 2 คน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นญาติกับโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยาน มิได้จัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์สระแก้ว ทั้งเป็นการยืนยันว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงไม่อาจหักล้างการแสดงเจตนาสละสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมานิคมสหกรณ์สระแก้วโดยนายธนู เจ้าหน้าที่บริหารงานส่งเสริมสหกรณ์ 6 รักษาราชการแทนหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วจะมีหนังสือถึงจำเลย ในกรณีที่จำเลยขอคัดค้านการออกเอกสารสิทธิให้แก่โจทก์ว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2539 และยังครอบครองโดยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ติดต่อกับนิคมสหกรณ์สระแก้วโดยสมัครเป็นสมาชิกวันที่ 30 ตุลาคม 2549 คัดเลือกสมาชิกวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 แจ้งผู้บุกรุกที่ดินวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ขอออกเอกสารสิทธิวันที่ 8 มิถุนายน 2550 มิได้ขอสละสิทธิหรือยกเลิกการครอบครอง แต่นายธนูตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตามระวางแผนที่ โดยไม่ได้ออกไปตรวจพื้นที่จริง ดังนั้น นายธนูพยานโจทก์จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ทั้งยังขัดกับข้อเท็จจริงที่พบว่า โจทก์เพิ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกและติดต่อกับนิคมสหกรณ์สระแก้วภายหลังจากโจทก์ย้ายชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านภายในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้ววันที่ 30 ตุลาคม 2549 ตามรายการเกี่ยวกับบ้านแล้วทั้งสิ้น พฤติการณ์ของโจทก์ที่สละสิทธิไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและย้ายไปที่อยู่อื่นแล้ว ภายหลังย้ายชื่อในทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วทั้งที่ไม่ได้มาอยู่จริงจึงเป็นเพียงเพื่อให้ได้สิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์หมดสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้วไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share