แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกที่มีความสูงเกิน 2.50 เมตร อันเป็นรถที่อยู่ในความควบคุมของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกไปในทางที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถหรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โดยจำเลยไม่เปิดไฟที่โคมไฟแสดงส่วนสูงส่วนกว้างและลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 11 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 9ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อในขณะมีแสงสว่างไม่เพียงพอโดยไม่มีไฟที่โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถทั้งที่มีความสูงเกิน 2.50 เมตร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 148 กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบกฯ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 11, 148 ปรับ 400 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ปรับ 300 บาทจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 148 ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 300 บาทคู่ความจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503มาตรา 10 คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาว่า การที่จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกซึ่งมีความสูงเกิน 2.50 เมตรโดยไม่เปิดไฟที่โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถ จะเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกที่มีความสูงเกิน 2.50 เมตรอันเป็นรถที่อยู่ในความควบคุมของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกไปในทางที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โดยจำเลยไม่เปิดไฟที่โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 11 บัญญัติว่า “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” และตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้รถทุกชนิดที่อยู่ในความควบคุมของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องมีโคมไฟตามประเภทและลักษณะที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกซึ่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ข้อ 9(2) กำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของเป็นรถที่อยู่ในลักษณะที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบ การขนส่ง และมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524)หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 15(3)(ซ) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของดังกล่าวที่มีความสูงเกิน 2.50 เมตรจะต้องมีโคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถจำนวน 4 ดวง โดยติดดวงริมให้อยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน 10 เซนติเมตร และติดดวงในให้ห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ40 เซนติเมตร จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ชัดว่ากฎหมายบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือสิ่งของในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จะต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง การที่จำเลยขับขี่รถยนต์ดังกล่าวไปในถนนที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือสิ่งกีดขวางได้ชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โดยไม่เปิดไฟที่โคมไฟแสดงส่วนสูงส่วนกว้าง และลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีหาเป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดดังที่จำเลยฎีกามาแต่อย่างใดไม่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน