แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามเจตนารมณ์ของการอายัดที่ดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 83มีความมุ่งหมายเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในอันที่จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะมีการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้ว การอายัดที่ดินจึงมีผลเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินทุกประเภทที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขออายัดได้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะประเภทที่พิพาทกันเท่านั้นและคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 228/2530 ข้อ 12 (2) ที่เปิดช่องให้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้ในระหว่างที่การอายัดยังมีผลบังคับในกรณีที่ศาลสั่งหรือการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ไม่เสียหายแก่ผู้ขออายัด แต่ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ได้ทำสัญญาตกลงกันให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ยินยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส.ชนะคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 425/2531 นั้น ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันเองระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.เท่านั้น ดังนั้นหาก ส.ชนะคดีผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามป.วิ.พ.มาตรา 145 ทั้งข้อตกลงนี้ไม่ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีอันอาจจะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ ดังนั้นหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายสมชายชนะคดี และปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่ ส. ส.ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องฟ้องบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.จดทะเบียนสิทธิการเช่าให้ ซึ่งจะทำให้ ส.ได้รับความเสียหายและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจึงมีอำนาจปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของโจทก์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ได้