คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5144/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่และให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด สำหรับคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า “สั่งในอุทธรณ์แล้ว” และมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า “รับอุทธรณ์คำสั่งและเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาพิจารณาสั่ง” ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาไปทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านคำร้องก่อน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้เพิกถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก เพราะเห็นว่าผู้คัดค้านจะต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่แบบคดีมีข้อพิพาทก็หาเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่อาจมีผลทำให้อุทธรณ์ของผู้คัดค้านขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ คดีจึงยังไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านให้ได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นๆ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสุธี วงศ์วัฒนาไพโรจน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมบัติ วงศ์วัฒนาไพโรจน์ หรือวงค์วัฒนาไพโรจน์ ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
นางสำอาง วงศ์วัฒนาไพโรจน์ ผู้คัดค้าน ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนเข้ามาในคดีหมายเลขแดงที่ 164/2549 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งหากผู้คัดค้านประสงค์จะยื่นเพิกถอนก็จะต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่แบบคดีมีข้อพิพาท ให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่าผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่และให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า “สั่งในอุทธรณ์แล้ว”
และมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า “รับอุทธรณ์คำสั่งและเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาพิจารณาสั่ง” ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาไปทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านคำร้องก่อนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านจะต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่แบบคดีมีข้อพิพาทก็หาเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่อาจมีผลทำให้อุทธรณ์ของผู้คัดค้านขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ คดีจึงยังไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านให้ได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี

Share