คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5101/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะโจทก์ไม่เคยทำงานและรับค่าจ้างจากจำเลย สัญญาจ้างของโจทก์ไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยตกลงจ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยโดยจะจ่ายค่าจ้างให้ และในสัญญาดังกล่าวไม่มีตราประทับของจำเลยเท่านั้น โดยมิได้ให้การต่อสู้ว่า ตามสัญญาจ้างระบุให้เริ่มต้นในทันทีที่โจทก์ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย แต่โจทก์ไม่เคยได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย การทำงานของโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวฯ สัญญาจ้างแรงงานตกเป็นโมฆะตามประเด็นที่อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 328,000 บาท ค่าสวัสดิการบ้านพักเดือนละ 55,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเต็มตามจำนวน ค่าเดินทางหรือสวัสดิการรถยนต์ค่าบำรุงรักษาและค่าน้ำมันรถยนต์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ซื้อรถยนต์ให้โจทก์เดือนละ 35,000 บาท ค่าเดินทางภายในและต่างประเทศซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว ค่าโบนัสเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนทุกปี โดยจ่ายให้ในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมของทุกปี ต่อมาโจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และโทรสารแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อขอลาออกจากจำเลยที่ 2 โดยให้มีผลสิ้นเดือนกรกฎาคม 2547 ตามเงื่อนไขในสัญญา แต่ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ และให้มีผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าว โดยโจทก์ได้ลงนามรับทราบและส่งคืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ระหว่างทำงานจำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าสวัสดิการค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนตามสัญญาแก่โจทก์เป็นเงิน 760,253.87 บาท การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยทั้งสองเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 418,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าจ้าง ค่าสวัสดิการและค่าตอบแทนจำนวน 760,253.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,164,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ไม่เคยทำงานให้จำเลยที่ 1 และรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างของโจทก์ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยจะจ่ายค่าจ้างให้และในสัญญาดังกล่าวไม่มีตราประทับของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงการลาออก โจทก์ลาออกเองไม่ใช่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใดๆ ค่าจ้าง ค่าสวัสดิการ ค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนตามที่โจทก์ฟ้องไม่ถูกต้อง ไม่มีหลักฐานมาแสดง และเงินเดือนก็สูงกว่าความเป็นจริงเพราะต้องถือตามจำนวนที่แจ้งต่อกรมสรรพากรคือเดือนละ 90,000 บาท โจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าจ้าง ค่าสวัสดิการและค่าตอบแทนของเดือนเมษายน 2547 จำนวน 364,840 บาท และของเดือนพฤษภาคม 2547 จำนวน 323,813.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปตามลำดับจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวเสร็จให้โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 7,523.56 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 557,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยสรุปได้ว่า ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ข้อ 3 ระบุให้สัญญาจ้างจะเริ่มต้นในทันทีที่โจทก์ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย แต่โจทก์ไม่เคยได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย การทำงานของโจทก์ขัดต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 สัญญาจ้างแรงงานตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าสวัสดิการ ค่าตอบแทนและค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ไม่เคยทำงานให้จำเลยที่ 1 และรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างของโจทก์ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยจะจ่ายค่าจ้างให้ และในสัญญาดังกล่าวไม่มีตราประทับของจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยมิได้ให้การต่อสู้ตามประเด็นที่อุทธรณ์มาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง

Share