คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ขอให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 และ 100/2 มาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้รับรอง และอ้างอีกประการว่า คดีมีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 โดยจำเลยระบุในฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามความประสงค์ของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คืนธนบัตรที่ใช่ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่งด้วย), 66 วรรคสอง, 102 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน (ที่ถูก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและให้ความรู้แก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมว่า ได้ทราบว่าข้างบ้านของจำเลยมีวัยรุ่นไปเช่าอาศัยอยู่ด้วยกันโดยมีนายปอนเป็นผู้เช่าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่วัยรุ่นทั่วไป ในวันเกิดเหตุจำเลยติดต่อขอเมทแอมเฟตามีนของกลาง 20 เม็ด จากนายปอนนำไปให้นายบี้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยและพาจำเลยไปบ้านนายปอนแต่ไม่พบนายปอนคงพบแต่เพื่อนของนายปอนกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนอยู่จึงจับเพื่อนของนายปอนเป็นอีกคดีหนึ่ง เห็นได้ว่าจำเลยได้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ขอให้นำพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 และ 100/2 มาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่างอ้างไว้ในคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้รับรอง และอ้างอีกประการว่าคดีมีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยจำเลยระบุในฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้าง และใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามความประสงค์ของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share