คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5018/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล ส. และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1 มีอาการเจ็บครรภ์ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ส. มีจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำคลอดแต่ทารกในครรภ์ได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 3 สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยโจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมุทรปราการ และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 โจทก์ที่ 1 มีอาการเจ็บครรภ์ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการมีจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำคลอด แต่ทารกในครรภ์ได้ถึงแก่ความตาย และฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทารกถึงแก่ความตาย อันจะทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้ให้การรักษาทำคลอดแก่โจทก์ที่ 1 เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพการแพทย์แล้ว โดยคำนึงถึงสุขภาพของแม่และเด็กและจากการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของจำเลยที่ 3 ปัญหาดังกล่าวได้ความจากโจทก์ที่ 1 ว่า เมื่อไปถึงโรงพยานบาล พยาบาลได้พาโจทก์ที่ 1 ไปห้องคลอดและทำความสะอาดร่างกายจากนั้นให้โจทก์ที่ 1 นอนรอที่ห้องคลอด จนถึงเวลาประมาณ 10 นาฬิกา มีแพทย์หญิงคนหนึ่งเข้ามาตรวจวัดช่องคลอดและสอบถามโจทก์ที่ 1 ว่าลูกคนแรกคลอดโดยวิธีธรรมชาติหรือไม่ โจทก์ที่ 1 บอกว่าคลอดโดยวิธีธรรมชาติ แพทย์หญิงคนดังกล่าวบอกว่าลูกคนแรกคลอดโดยวิธีธรรมชาติคนต่อไปก็คลอดโดยวิธีธรรมชาติได้เช่นกัน จากนั้นก็กลับออกไป ต่อมาเวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 3 เข้ามาตรวจครรภ์ แล้วสั่งให้พยาบาลให้น้ำเกลือแก่โจทก์ที่ 1 ต่อมาเวลาประมาณ 13 นาฬิกา พยาบาลได้นำออกซิเจนมาครอบจมูกช่วยหายใจบอกว่าเพื่อให้ทารกมีอากาศหายใจ จนถึงประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยที่ 3 เข้ามาในห้องคลอดและตรวจครรภ์ของโจทก์ที่ 1 แล้วบอกว่ายังไม่สามารถคลอดเองได้ต้องผ่าตัดเอาทารกออก จากนั้นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา พยาบาลนำโจทก์ที่ 1 เข้าห้องผ่าตัดหลังจากนั้น โจทก์ที่ 1 ไม่รู้สึกตัวอีกเลย โจทก์ที่ 1 เพิ่งทราบว่าบุตรของโจทก์ที่ 1 เสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น เห็นว่า จากพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อในการตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 หรือได้ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติทางการแพทย์อย่างไร แต่กลับเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 และนางรัศมี สุวัณณสังข์ พยาบาลผู้ดูแลโจทก์ที่ 1 พยานจำเลยทั้งสามว่า เมื่อได้รับตัวโจทก์ที่ 1 ไว้แล้ว ได้มีการสอบถามประวัติของโจทก์ที่ 1 จึงทราบว่าโจทก์ที่ 1 เคยคลอดบุตรคนแรกโดยวิธีธรรมชาติมาแล้ว จำเลยที่ 3 จึงประเมินว่าในครั้งนี้ก็น่าจะคลอดโดยวิธีธรรมชาติได้ ต่อมานางรัศมีและจำเลยที่ 3 ได้ตรวจสุขภาพและช่องคลอดของโจทก์ที่ 1 เป็นระยะๆ ต่อเนื่องกัน พบว่า ทารกในครรภ์มีการเต้นของหัวใจเป็นปกติ ความสัมพันธ์ของการเปิดปากมดลูกและการเคลื่อนที่ลงต่ำของส่วนนำปกติรายละเอียดปรากฏตามบันทึกประเมินสมรรถนะผู้ป่วย และกราฟช่วยดูแลการเจ็บครรภ์คลอด เมื่อพบว่าสีของน้ำคร่ำที่ไหลออกมามีสีผิดปกติ จำเลยที่ 3 ก็ให้การรักษาเบื้องต้นโดยการให้น้ำเกลือและออกซิเจนทันที ซึ่งความผิดปกติของสีน้ำคร่ำนี้นางรัศมีก็เบิกความยืนยันว่า มีปริมาณน้อยเพียง 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรและเป็นปกติที่พบได้ในคนไข้ทั่วไป ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่าการบีบตัวของมดลูกและทารกมีการเต้นของหัวใจเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเข้าห้องผ่าตัดตามบันทึกการตรวจ แสดงว่าในช่วงเวลา 10 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยที่ 3 เข้าไปตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ในครั้งแรกจนถึงเวลา 16 นาฬิกา ยังไม่มีสิ่งผิดปกติที่จะต้องผ่าตัดแต่อย่างใด เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องผ่าตัดทำคลอดโจทก์ที่ 1 ก็เนื่องจากส่วนนำไม่เคลื่อนต่ำลงตามที่ควรจะเป็นซึ่งก่อนทำการผ่าตัดจำเลยที่ 3 ก็ได้พิจารณาทางเลือก 2 ทาง คือการผ่าตัดทำคลอดกับการใช้เครื่องดูดออก แต่เมื่อประเมินแล้วจำเลยที่ 3 เห็นว่าศีรษะทารกอยู่สูงหากใช้เครื่องดูดอาจไม่ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก จึงตัดสินใจผ่าตัด ดังนั้น การไม่รีบผ่าตัดและผ่าตัดล่าช้าไปบ้าง จึงหาใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อในการตรวจรักษาหรือตัดสินใจผิดพลาดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ นอกจากนี้ในการผ่าตัดก็ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่าได้มีการใช้ทีมแพทย์พยาบาลตามมาตรฐาน เมื่อผ่าตัดทารกออกมาพบว่าหัวใจทารกไม่เต้น ทีมผ่าตัดได้ทำการปฐมพยาบาล ปั๊มหัวใจ ให้ยากกระตุ้น และใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตทารกไว้ได้ ประกอบกับยังได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์อากฤษฎิ์ บญสงวน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชโรงพยาบาลสมุทรปราการพยานโจทก์ทั้งสองว่า พยานตรวจดูการปฏิบัติงานของแพทย์ที่ทำคลอดรายนี้แล้ว เห็นว่า การปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อันเป็นการสนับสนุนข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามให้มีน้ำหนักในการรับฟังมากขึ้น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าทางโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการจะได้มอบศพทารกให้มูลนิธิร่วมกุศลไปเผา โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติของทางโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการ หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 ไม่ ทั้งยังได้ความจากนายน้อย ชอบธรรม พนักงานรักษาศพของโรงพยาบาลสมุทรปราการ พยานจำเลยทั้งสามว่า พยานเก็บศพทารกรายนี้ไว้ในตู้เย็น ในวันรุ่งขึ้นมีผู้หญิงสองคนมาขอดูศพทารกดังกล่าว แต่ไม่ได้พูดอะไร พยานเก็บศพทารกไว้จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ก็มอบให้มูลนิธิร่วมกุศลนำไปบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามปกติ หาได้มีข้อพิรุธหรือน่าสงสัยไม่ และในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ร้องเรียนหรือขอความเป็นธรรมต่อทางโรงพยาบาลสมุทรปราการถึงสาเหตุการตายแต่อย่างใด เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 3 สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share