แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 24 กรุงเทพมหานคร เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครแต่ไม่ได้รับเลือกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัคร โดยต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครภายในกำหนด 90 วัน หลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง คือวันที่ 23 เมษายน 2544 จำเลยอ้างว่า ไปยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 แต่เจ้าหนี้ที่ไม่รับเอกสารอ้างว่าจำเลยไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จำเลยก็มิได้ดำเนินการแก้ไขหรือขอให้เจ้าหน้าที่รับเอกสารไว้ก่อนแล้วจะดำเนินการแก้ไขในภายหลัง แต่จำเลยกลับไปยื่นใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับเช่นเดิมซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งหรือให้เจ้าหน้าที่บันทึกเหตุผลที่ไม่รับเอกสารของจำเลยดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ไปดำเนินการยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแล้ว การที่จำเลยไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 นั้น เมื่อนับจากวันที่ 23 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ก็เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไป 3 วัน แม้เจ้าหน้าที่ลงวันรับหนังสือไว้เก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณเท่านั้น หาใช่เป็นการผ่อนผันให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครปฏิเสธไม่รับเอกสารของจำเลย เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและจำเลยได้รับรองความถูกต้องภายในกำหนด 90 วัน หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 วรรคหนึ่ง
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้ง ข้อ 20 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตแต่ละคนยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำตามข้อ 19 รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วันนับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง และลงนามโดยประธานกรรมการการเลือกตั้ง แม้ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ จะบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม แต่ข้อความตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ 20 ดังกล่าวพอแปลได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำการแทน จึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นต่อคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ ดังนี้ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ 20 จึงหาได้ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 43 แต่อย่างใดไม่
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 10 (2) ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 42 ได้บัญญัติให้ผู้สมัครแต่งตั้งบุคคลเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัคร โดยการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพิจารณาประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 (2) และ 42 แล้ว ข้อความในประกาศดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างมา ทั้งยังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเช่นนี้ ประกาศดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบกับพยานอื่นได้ แม้ประกาศดังกล่าวไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามข้อ 20 ของประกาศฉบับนี้ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีจัดทำรวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาสาระทำนองเดียวกับมาตรา 43 ดังนี้ แม้ประกาศดังกล่าวจะไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ก็ตาม ก็หาได้ทำให้ประกาศดังกล่าวไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองพรรคไท ในเขตเลือกตั้งที่ 24 กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและผู้สมัครได้รับรองความถูกต้องภายในกำหนด 90 วัน หลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง แต่จำเลยไม่ยื่นบัญชีดังกล่าวภายในกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและมิได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43, 104 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 5 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43, 104 (ที่ถูกมาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 104 วรรคหนึ่ง) จำคุก 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ได้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 จำเลยยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 24 กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคไท ได้รับหมายเลข 19 มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครแต่ไม่ได้รับเลือกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัคร โดยต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครภายในกำหนด 90 วัน หลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง คือวันที่ 23 เมษายน 2544 แต่จำเลยยื่นเอกสารที่อ้างว่าเป็นบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธุรการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 ซึ่งเกินกำหนด 90 วัน แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครถึง 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับโดยอ้างว่า บัญชีรายรับและรายจ่ายดังกล่าวไม่ได้ทำตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดและไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำใบรับให้จำเลยไว้ จำเลยจึงต้องไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ลงรับไว้ นั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์มีนายสุพจน์ ไพบูลย์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครเบิกความยืนยันว่าจำเลยไม่เคยมายื่นรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครที่บ้านมนังคศิลาแล้ว ยังได้ความจากนายราชันย์ เพ็ชรณรงค์ เจ้าพนักงานการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับเอกสารค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2544 มีผู้มายื่นเอกสารค่าใช้จ่ายจำนวน 316 ราย ไม่ยื่น 12 ราย จำเลยเป็น 1 ใน 12 รายด้วย พยานโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรงและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุผลที่จะเบิกความให้ร้ายจำเลย จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยไปยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 โดยไปกับนางชุติกานต์ ชูติกมลธรรม แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับเอกสารอ้างว่า จำเลยไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 ไปกับนายชูศักดิ์ แนวพาณิชย์ แต่ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 จำเลยจึงไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ลงรับไว้ เห็นว่า แม้จำเลยมีนางชุติกานต์กับนายชูศักดิ์มาเบิกความเป็นพยานจำเลยก็ตาม แต่พยานทั้งสองล้วนแต่เป็นผู้ใกล้ชิดกับจำเลยโดยนางชุติกานต์เป็นเพื่อนจำเลย ส่วนนายชูศักดิ์ก็เป็นกรรมการบริหารพรรคไท ซึ่งจำเลยสังกัดอยู่ ดังนี้ อาจเบิกความช่วยเหลือจำเลยได้ ยิ่งกว่านั้นตอนที่จำเลยอ้างว่า ไปยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครั้งแรกและเจ้าหน้าที่ไม่รับเอกสารอ้างว่าจำเลยไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยก็มิได้ดำเนินการแก้ไขหรือขอให้เจ้าหน้าที่รับเอกสารไว้ก่อนแล้วจะดำเนินการแก้ไขภายหลัง แต่จำเลยกลับไปยื่นใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับเช่นเดิมซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งหรือให้เจ้าหน้าที่บันทึกเหตุผลที่ไม่รับเอกสารของจำเลยดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ไปดำเนินการยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแล้ว ส่วนการที่จำเลยนำเอกสารหมาย จ.14 ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 นั้น เมื่อนับจากวันที่ 23 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งก็เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไป 3 วัน แม้เจ้าหน้าที่ลงวันรับหนังสือไว้ก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณเท่านั้น หาใช่เป็นการผ่อนผันให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ส่งเอกสารดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง ข้อ 20 และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครปฏิเสธไม่รับเอกสารของจำเลยเพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว พยานจำเลยไม่สามารถฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและจำเลยได้รับรองความถูกต้องภายในกำหนด 90 วัน หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามฟ้องจริง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า การทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 20 ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นรายงานการจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง นั้น ขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เพราะมาตรา 43 ดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง ไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าว เป็นประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้ง ซึ่งในข้อ 20 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตแต่ละคนยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำตามข้อ 19 รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง และลงนามโดยประธานกรรมการการเลือกตั้ง แม้ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จะบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม แต่ข้อความตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 20 ดังกล่าว พอแปลได้ว่า คณะกรรมการเลือกตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำการแทน จึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ ดังนี้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งข้อ 20 จึงหาได้ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 43 แต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 โดยมิได้อ้างบทบัญญัติมาตรา 43 ไว้จึงไม่อาจนำมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลย นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 10 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ส่วนมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ได้บัญญัติให้ผู้สมัครแต่งตั้งบุคคลเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครโดยการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพิจารณาประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีเลือกตั้งแล้ว ข้อความในประกาศดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างมา ทั้งยังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เช่นนี้ ประกาศดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบกับพยานอื่นได้ แม้ประกาศดังกล่าวไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามข้อ 20 ของประกาศฉบับนี้ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีจัดทำรวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาสาระทำนองเดียวกับมาตรา 43 ดังนี้ แม้ประกาศดังกล่าวจะไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ก็ตาม ก็หาได้ทำให้ประกาศดังกล่าวไม่ชอบดังที่จำเลยอ้างมาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน