แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานที่บริษัทอื่นก็เนื่องมา จากจำเลยไม่พอใจผลงานของโจทก์ แม้บริษัทนั้นจะอยู่ในเครือเดียวกันกับจำเลยแต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันในการเข้าทำงานโจทก์ก็ต้องทำสัญญาเป็นการตกลงจ้างกันใหม่ การย้ายดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปหรือให้โจทก์ออกจากงาน ถึงหากโจทก์จะสมัครใจทำงานใหม่ก็เป็นการสมัครใจหลังจากที่จำเลยไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปแล้วและหาได้มีข้อความใดเป็นการตกลงให้นับระยะเวลาทำงานกับจำเลยต่อเนื่องกับระยะเวลาทำงานกับบริษัทใหม่ไม่ จึงมิใช่เป็นการสมัครใจย้ายที่ทำงานของโจทก์ หากเป็นผลจากการเลิกจ้างของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลย
เมื่อจำเลยจ่ายค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน มิใช่เป็นครั้งคราว หรือโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากโจทก์มิได้ไปติดต่อลูกค้านอกสถานที่ทำงานจะไม่ได้รับค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่น และจำเลยได้จ่ายเช่นนี้มาตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานจนเลิกจ้างจึงถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงาน อันเป็นค่าจ้างเพียงแต่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเท่านั้น จึงต้องนำเงินนี้มารวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
ข้อบังคับของจำเลยมีความว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิพักผ่อนประจำปี โดยได้รับค่าจ้างเต็มวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ ได้ใช้จะเก็บสะสมไว้ในปีต่อไปไม่ได้ดังนี้พนักงานที่ทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี กับ 1 วัน ก็ย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ไม่จำต้องทำงานต่อไปจนครบอีก1 ปี และการที่พนักงานมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นก็เป็นแต่เพียงจะนำไปเก็บสะสม ไว้ใช้ในปีต่อไปไม่ได้เท่านั้นเองหาเสียสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีกไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ขณะเลิกจ้างโจทก์ได้รับเงินเดือน ๗,๐๐๐ บาท ค่าพาหนะเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ค่าคอมมิชชั่นเดือนละ ๔,๕๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่จำเลยมิได้จ่ายให้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีกรวม ๒๒ วัน เป็นเงิน ๙,๙๐๐ บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๐,๕๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๙,๙๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ โจทก์ตกลงออกจากจำเลยโดยจำเลยโอนโจทก์ให้ไปทำงานกับบริษัท ท. เพราะโจทก์ไม่มีฝีมือและความสามารถเพียงพอ โจทก์กับบริษัท ท. ตกลงทำสัญญาจ้างกันตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ถึงหากจะมีก็คำนวณจากเงินเดือน ๗,๐๐๐ บาทเท่านั้น จะนำเอาค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นมาคำนวณไม่ได้ และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานที่บริษัท ท. เป็นการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ทำงานมาเกิน ๑ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน ค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นซึ่งโจทก์ได้รับเป็นประจำทุกเดือนนับว่าเป็นค่าจ้าง ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ ๒ สัปดาห์ รวมทั้งสิ้นโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อน ๒๒ วัน โจทก์มิได้หยุดจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๐,๕๐๐บาท และค่าทำงานในวันหยุด ๙,๙๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เหตุที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานอยู่ที่บริษัท ท. เนื่องจากจำเลยไม่พอใจผลงานของโจทก์ถึงแม้บริษัท ท. จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับจำเลย แต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน ในการเข้าทำงานโจทก์ต้องทำสัญญากับบริษัท ท. อีกต่างหาก เป็นการตกลงจ้างกันใหม่ การย้ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปหรือให้โจทก์ออกจากงานนั่นเอง ถึงหากโจทก์จะสมัครใจเข้าทำงานกับบริษัท ท. ก็เป็นการสมัครใจหลังจากที่จำเลยไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปแล้ว และเมื่อโจทก์ทำสัญญาทำงานกับบริษัท ท. ก็มิได้มีข้อความอันเป็นการตกลงให้นับระยะเวลาทำงานอยู่กับจำเลยต่อเนื่องกับระยะเวลาทำงานกับบริษัท ท. อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิถือเอาระยะเวลาทำงานทั้งสองแห่งมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยในกรณีที่บริษัท ท. เลิกจ้างโจทก์ในภายหลัง การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานกับบริษัท ท. ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการสมัครใจย้ายที่ทำงานของโจทก์ หากเป็นผลจากการเลิกจ้างของจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลย
หนังสือแจ้งรับโจทก์เข้าทำงานมีความว่า ขอให้โจทก์มาเริ่มงานได้ด้วยอัตราเงินเดือน ๑๑,๐๐๐ บาท (โดยแยกออกเป็นเงินเดือน ๔,๕๐๐ บาท ค่าพาหนะ ๒,๐๐๐ บาท ค่าคอมมิชชั่น ๔,๕๐๐ บาท) ต่อมาจำเลยได้แจ้งรับโจทก์เป็นพนักงานประจำและปรับเงินเดือนเป็น ๑๓,๕๐๐ บาท โดยแยกรายได้ดังนี้คือ เงินเดือน ๗,๐๐๐ บาท ค่าพาหนะ ๒,๐๐๐ บาท ค่าคอมมิชชั่นประจำ๔,๕๐๐ บาท เป็นที่เห็นได้ว่าลักษณะการจ่ายค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นประจำของจำเลยให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายประจำทุกเดือน มิใช่เป็นครั้งคราวหรือโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าหากโจทก์มิได้ไปติดต่อลูกค้านอกสถานที่ทำงานจะไม่ได้รับค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นประจำ และจำเลยได้จ่ายเช่นนี้มาตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานจนเลิกจ้างโจทก์ จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการชอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน อันเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ เพียงแต่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเท่านั้น จึงต้องนำค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวมารวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
ตามข้อบังคับของจำเลยมีความว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปีปฏิทินมีสิทธิพักผ่อนประจำปีได้เป็นเวลา ๒ สัปดาห์(รวมทั้งวันหยุด) โดยได้รับค่าจ้างเต็ม พนักงานใหม่จะมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีครั้งแรกก็ต่อเมื่อหลังจากได้ทำงานมาครบ ๑ ปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้จะเก็บสะสมไว้ในปีต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดเพียงว่าหลังจากพนักงานของจำเลยทำงานมาแล้วครบ ๑ ปี ก็มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ส่วนจะทำงานเกิน ๑ ปีเป็นระยะเวลาเท่าใดมิได้กำหนด ดังนี้ แม้แต่พนักงานผู้ซึ่งทำงานมาเป็นเวลา ๑ ปี กับ ๑ วันก็ย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ ๑ ปีในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ หลังจากวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้หาจำเป็นต้องทำงานตั้งแต่วันที่ ๑๖กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ไปจนครบอีก ๑ ปีไม่ และปรากฏว่า ตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๕ และถึงแม้โจทก์มิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก็เป็นเพียงแต่จะนำไปเก็บสะสมไว้ใช้ในปีต่อไปไม่ได้เท่านั้นเองหาเสียสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่า นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ เป็นต้นมา โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ๒ สัปดาห์ มิใช่ ๒๒ วันดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๓,๕๐๐บาท ตกวันละ ๔๕๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ๒ สัปดาห์จึงเป็นเงิน ๖,๓๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๖,๓๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง