คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5106/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าโจทก์ได้ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบที่พิพาทและปลูกไม้ยืนต้นตามที่ ระบุชื่อไว้ในที่พิพาท โดยระบุจำนวนเนื้อที่ และแสดง แผนที่พิพาทไว้ตามเอกสารท้ายฟ้อง แล้วถูกจำเลยบุกรุกทำลายต้นไม้ยืนต้นและเสารั้ว ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องฟ้องของโจทก์จึงแสดงชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างซึ่งใช้เป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับโดยชัดเจน พอเข้าใจได้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าต้นไม้ชนิดใด ถูกทำลายจำนวนเท่าใด เสารั้วลวดหนามปักอยู่บริเวณใดบ้างเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเกิดจากกรณี กระแสน้ำพัดพาเอาดิน กรวด ทราย มากองทับถมสูงขึ้นจนกลายเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินโฉนดตามฟ้องของโจทก์ตามธรรมชาติที่พิพาทจึงเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินที่ประชาชน ใช้ร่วมกัน ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 แม้ที่ดินพิพาทที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าเป็นที่งอกของที่ดินโจทก์แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ และเทศบาลจำเลยมีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณะ ด้วยก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและไม่มีอำนาจที่จะทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในที่สาธารณะโดยพลการ การที่จำเลยได้ร่วมรื้อถอนเสารั้วลวดหนามโค่นตัดฟันต้นไม้ที่โจทก์ปลูกไว้ในที่พิพาทและไถกลบบ่อน้ำของโจทก์ในที่พิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันเพื่อความสะดวกให้เรียกนางลออ เซี่ยงไฮ้ เป็นโจทก์ที่ 1 และนางสาวนงลักษณ์ เซี่ยงไฮ้ เป็นโจทก์ที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 32569 นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12813 ที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำแม่กลอง ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลท่วมเต็มสองฝั่งแม่น้ำ กระแสน้ำจะพัดพากรวด หิน ดิน ทรายเข้ามาทับถมกันทางท้ายที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ติดกับแม่น้ำทุก ๆ ปีจนเป็นที่งอก โจทก์ทั้งสองจึงได้ปลูกต้นไม้และทำเสารั้วคอนกรีต ลวดหนามล้อมรอบที่ดินที่เป็นที่งอกดังกล่าวสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 12813 คิดเป็นเนื้อที่ 1 งาน 21.8 ตารางวาส่วนโฉนดเลขที่ 32569 คิดเป็นเนื้อที่ 72.85 ตารางวาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536 จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยนำรถแทรกเตอร์เข้ามาบุกรุกทำลายเสารั้วคอนกรีตรั้วลวดหนามและต้นไม้ที่โจทก์ทั้งสองปลูกไว้คิดเป็นเนื้อที่ 69.6 ตารางวาและ 29.4 ตารางวา สำหรับที่ดินในโฉนดแต่ละแปลง โจทก์ทั้งสองห้ามปรามแล้วจำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายสำหรับสำนวนแรกจำนวนเงิน 33,833 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 28,333 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจำนวน 26,625 บาท สำหรับสำนวนหลังพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่งอกริมตลิ่งซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 12813 และ 32569 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินต่อไปและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน กับให้จำเลยทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมด้วยทุนทรัพย์ของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 42,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ เฉพาะจำเลยอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่พิพาท ซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นจำนวนเงิน 42,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองสำนวนละ 2,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับกันฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32569และถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12813ด้วย ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดต่อกันตั้งอยู่ในเขตตำบลโพธารามอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ด้านทิศตะวันตกของที่ดินทั้งสองแปลงติดแม่น้ำแม่กลอง มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำบริวารพร้อมรถแทรกเตอร์เข้าบุกรุกทำลายเสารั้วคอนกรีต ลวดหนามพร้อมทำลายไม้ยืนต้นที่โจทก์ปลูกไว้ โจทก์ปลูกมะรุม มะพร้าวมะกรูด มะนาว มะยม ส้มโอ สะเดา กล้วย และพืชผักสวนครัวไว้ในที่พิพาท และจำเลยทำลายไม้ยืนต้นซึ่งปลูกในพื้นที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าต้นไม้ยืนต้นประเภทใดบ้างคงระบุว่าจำเลยทำลายมะพร้าวรวม 5 ต้น มะกรูด 1 ต้นและมะนาว 2 ต้น คำฟ้องไม่ชัดเจนเพียงพอว่ามีต้นไม้ยืนต้นประเภทใด ปลูกจำนวนกี่ต้น ทั้งตามฟ้องไม่ได้บรรยายเลยว่าจำเลยทำลายต้นมะรุม เพียงแต่บรรยายว่าเดิมโจทก์ทั้งสองมีรายได้จากการขายมะรุมรวม 13 ต้น เป็นเงินปีละ 30,000 บาททำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจและไม่สามารถโต้แย้งค่าเสียหายได้ถูกต้องประกอบกับแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 6 ไม่ได้ระบุตำแหน่งเสารั้วคอนกรีตลวดหนาม 38 ต้น ปักอยู่ที่ใดเพื่อจำเลยจะได้คำนวณจำนวนเสาได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเคลือบคลุมเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนได้บรรยายไว้แล้วว่าได้ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบที่พิพาทและปลูกไม้ยืนต้นตามที่ระบุชื่อไว้ในที่พิพาท โดยระบุจำนวนเนื้อที่และแสดงแผนที่พิพาทไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 แล้วถูกจำเลยบุกรุกทำลายต้นไม้ยืนต้นและเสารั้วขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงแสดงชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างซึ่งใช้เป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับโดยชัดเจนพอเข้าใจได้แล้วส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าต้นไม้ชนิดใดถูกทำลายจำนวนเท่าใดเสารั้วลวดหนามปักอยู่บริเวณใดบ้าง เป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นข้อที่สอง ที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง หรือเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยฎีกาว่า บริเวณที่พิพาทซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินโฉนดของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องนั้นเป็นที่ชายตลิ่ง จึงเป็นที่สาธารณะ ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมทั้งหมด แต่ในฤดูแล้งน้ำจะลดลงไปห่างหลังบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ 40 เมตรเกิดเป็นหาดทรายยาวซึ่งจำเลยใช้ที่ดินบริเวณหลังบ้านโจทก์และหาดทรายนี้จัดงานประจำปีในช่วงตรุษจีนเสมอมา เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็จะท่วมที่ชายตลิ่งนี้อีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนทางต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จึงทำให้น้ำในแม่น้ำแม่กลองในฤดูฝนท่วมไม่ถึงที่พิพาท เห็นว่า สภาพที่พิพาทตามที่โจทก์จำเลยนำสืบและที่ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.11 ถึง จ.14 จ.16และ ล.10 มีต้นไม้ยืนต้นขึ้นสูงพอสมควรขึ้นอยู่ทั่วไป แสดงว่าน้ำท่วมไม่ถึงบริเวณดังกล่าวมาหลายปีแล้ว ตามคำเบิกความของโจทก์ทั้งสอง และคำเบิกความของนายวารี จันเกษมนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลย กับนางประไพ ภูมิสุวรรณพยานจำเลยซึ่งมีบ้านอยู่ห่างบ้านโจทก์ประมาณ 4 ถึง 5 ห้องได้ความตรงกันว่าหลังปี 2518 เป็นต้นมาน้ำท่วมไม่ถึงที่พิพาทโจทก์ทั้งสองและพยานโจทก์ปากอื่นไม่ได้เบิกความถึงสาเหตุว่าเหตุใดน้ำจึงไม่ท่วมที่พิพาทตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมาคงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ว่า ได้ปลูกต้นมะพร้าวมะรุม และต้นไม้อื่นในที่พิพาทในปี 2518 แต่จำเลยมีนายวารีนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลย นายกระจ่าง วุฒิชัยพันธุ์และนายประณต สุวิรัตนภัส ซึ่งมีบ้านอยู่ริมน้ำใกล้กับบ้านโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า สาเหตุที่น้ำในแม่น้ำแม่กลองลดลงไม่ท่วมถึงที่พิพาทในฤดูน้ำหลากเนื่องจากมีการสร้างเขื่อนที่ต้นแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรีหลายเขื่อนคือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนาและเขื่อนเขาแหลม กักเก็บน้ำไว้ ศาลตรวจดูตามหนังสือการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่จำเลยระบุอ้างเป็นพยานและส่งสำเนาต่อศาลและโจทก์แล้วได้ความว่า เขื่อนวชิราลงกรณ์สร้างเสร็จปี 2518เขื่อนศรีนครินทร์สร้างเสร็จระยะแรกปี 2523 เขื่อนท่าทุ่งนาสร้างเสร็จปี 2525 และเขื่อนเขาแหลมสร้างเสร็จปี 2527ทั้งยังได้ความจากนายพลเชษฐ์ ภุมพันธ์ พยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่จดระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบ้านใหม่ห่างที่พิพาทไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ว่าในปี 2514 ถึง 2517 น้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองโพธาราม โดยในปี 2517 บันทึกไว้ว่าระดับน้ำสูงสุดวันที่ 19 สิงหาคม 2517 สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 8.46 เมตรระดับน้ำต่ำสุดวันที่ 29 เมษายน 2517 สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง2.36 เมตร แต่หลังจากปี 2528 เป็นต้นมาระดับน้ำสูงสุดแตกต่างจากระดับน้ำต่ำสุดประมาณ 1 เมตร จึงไม่มีบันทึกไว้เมื่อรับฟังประกอบกันแล้วข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าสาเหตุที่น้ำท่วมไม่ถึงที่พิพาทตั้งแต่ปี 2518 มาเพราะมีการสร้างเขื่อนถึง 4 เขื่อน ดังกล่าวแล้วกักเก็บน้ำไว้ ที่พิพาทซึ่งเป็นที่ชายตลิ่งติดต่อกับที่ดินตามโฉนดของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ถูกน้ำท่วมเพราะเหตุนี้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเกิดจากกรณีกระแสน้ำพัดพาเอาดิน กรวด ทรายมากองทับถมสูงขึ้นจนกลายเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินโฉนดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองตามธรรมชาติดังโจทก์อ้าง นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานโจทก์และพยานจำเลยตรงกันอีกว่า จำเลยใช้ที่ดินบริเวณหากทรายและหลังบ้านโจทก์จัดงานประจำปีทุกปีทั้งนายกระจ่าง นางประไพ และนายประณตพยานจำเลยซึ่งมีบ้านอยู่ริมน้ำใกล้บ้านโจทก์ยังเบิกความถึงว่า แนวรั้วที่ขยับเข้ามาห่างหลังบ้านประมาณ 10 เมตรนั้นอยู่ใกล้ท่อประปาของจำเลยซึ่งศาลดูตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ภาพที่ 10 ก็ปรากฏว่ามีท่อวางยาวไปอยู่ใกล้แนวรั้วน่าเชื่อว่ามีท่อประปาของจำเลยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวรวมทั้งที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ร่วมกันถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ประเด็นข้อที่สาม จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ในวันที่ 6ธันวาคม 2536 มีการพัฒนาที่ดินบริเวณที่พิพาทโดยความร่วมมือระหว่างจำเลยกับชาวบ้านบริเวณนั้น ไม่มีการนำรถไปไถที่พิพาทหรือทำลายเสารั้วและต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง การถากถางบริเวณที่พิพาทใช้กำลังคน ซึ่งใช้มีดและจอบเท่านั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ก่อสร้างเขื่อนและถนนเลียบริมแม่น้ำแม่กลองไม่ได้เป็นบริวารของจำเลย ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย จำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับเหมาก่อสร้างถนนซึ่งเป็นผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และโจทก์ทั้งสองก็ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับเหมาก่อสร้างถนนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 เรื่องนี้โจทก์มีโจทก์ทั้งสองและนายธานีผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความว่า ในวันที่ 6 ธันวาคม 2536จำเลยโดยนายวารี จันเกษม นายกเทศมนตรีกับพวกประมาณ30 ถึง 40 คน ได้นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันต้นไม้และเสารั้วลวดหนาม ใช้มีดตัดฟันต้นไม้และไถกลบบ่อน้ำในที่พิพาทปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.13 และ จ.14 ตามคำนายวารี จันเกษมและนายกระจ่าง วุฒิชัยพันธ์ พยานจำเลยก็เบิกความว่าในวันดังกล่าวเทศบาลจำเลยได้ร่วมกับประชาชนพัฒนาพื้นที่รกริมน้ำรวมทั้งบริเวณหลังบ้านโจทก์และบ้านนายกระจ่างและบ้านบุคคลอื่นซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยช่วยกันตัดฟันต้นไม้ออกและมีการร่นรั้วลวดหนามซึ่งชาวบ้านแถบริมน้ำทำกั้นบริเวณหลังบ้านไว้เข้าไปปักใหม่ในแนวห่างหลังบ้านประมาณ 10 เมตรใกล้เคียงกับแนวท่อประปาของจำเลยซึ่งชาวบ้านยินยอมเพราะเห็นว่าเป็นที่สาธารณะ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมให้รื้อรั้วลวดหนามหลังบ้าน นอกจากนี้นายวารียังเบิกความตอบคำถามค้านว่ามีรถแทรกเตอร์เข้าไปไถในที่สาธารณะ แต่เป็นเรื่องของผู้รับเหมาซึ่งจำเลยว่าจ้าง ส่วนนายกระจ่างเบิกความตอบคำถามค้านว่า รั้วและต้นไม้ด้านหลังบ้านโจทก์ใครจะเป็นผู้มาไถดินไม่ทราบ เห็นว่า ตามภาพถ่ายหมาย จ.13 และ จ.14ปรากฏว่ามีเสารั้วลวดหนามล้มต้นไม้ถูกโค่นถูกตัดฟัน และมีร่องรอยสายพาน ล้อรถแทรกเตอร์ ปรากฏให้เห็น ซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นการไถดัน ตัดฟัน โค่นต้นไม้ที่โจทก์ปลูกไว้ในที่พิพาทและไถกลบบ่อน้ำที่โจทก์ขุดไว้ด้วย พยานจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านภาพถ่ายดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนายวารีและนายกระจ่างยังเบิกความรับว่า มีการร่วมกันพัฒนาตัดฟันต้นไม้บริเวณหลังบ้านนายกระจ่างและหลังบ้านโจทก์เพียงแต่อ้างว่าไม่ได้ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์และรถแทรกเตอร์ที่เข้าไปไถที่เป็นของผู้รับเหมาจำเลยไม่ได้สั่งให้ไถที่พิพาท แต่ได้ความจากพยานจำเลยว่ามีการขยับรั้วหลังบ้านแถวเดียวกับบ้านโจทก์เข้าไปห่างตัวบ้านประมาณ 10 เมตร แต่โจทก์ไม่ยอมขยับและมีเรื่องโต้เถียงกับจำเลยด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยได้ร่วมรื้อถอนเสารั้วลวดหนามโค่นตัดฟันต้นไม้ที่โจทก์ปลูกไว้ในที่พิพาทและไถกลบบ่อน้ำของโจทก์ในที่พิพาทจริง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะและจำเลยมีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณะด้วย แต่จำเลยก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีอำนาจที่จะทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในที่สาธารณะโดยพลการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ประเด็นข้อที่สี่ ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดจำเลยฎีกาว่าเนื้อที่พิพาท 99 ตารางวา ล้อมรั้วเพียงสามด้านโจทก์ปักเสารั้วห่างกัน 4 เมตร ใช้เสาไม่ถึง 38 ต้นดังที่โจทก์อ้าง ทั้งตามภาพถ่ายหมาย จ.13 เห็นเสารั้วล้มอยู่ไม่เกิน 5 ต้น ค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ควรเกิน 500 บาทส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับต้นไม้ซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณที่พิพาทถูกตัดโค่นทำลายนั้นเป็นไปไม่ได้ที่มะรุม 13 ต้นจะปลูกอยู่ในที่พิพาทเนื้อที่ 99 ตารางวา เพราะโจทก์ว่ายังมีมะพร้าวและต้นไม้อื่นรวมทั้งบ่อน้ำอยู่ด้วย ทั้งโจทก์ที่ 1 เบิกความว่าต้นมะรุมเสียหาย 3 ต้น มะพร้าว 5 ต้น และต้นมะกรูด มะนาวส้มโอ มะขาม น้อยหน่าเสียหายด้วย ตามคำนางประไพพยานจำเลยได้ความว่า ต้นมะรุมบ้านโจทก์ให้ผลแล้วเพียง 2 ต้นออกผลปีละครั้งตลาดขายกำละ 5 บาท ที่ศาลชั้นต้นให้ค่าเสียหายส่วนนี้ 30,000 บาท จึงไม่ถูกต้องสำหรับบ่อน้ำค่าเสียหายไม่ควรเกิน 100 บาท เพราะขุดมา 10 ปีแล้ว ย่อมมีเสื่อมราคาเห็นว่าค่าเสียหายเกี่ยวกับเสารั้วลวดหนาม ต้นไม้ที่ถูกโค่นตัดฟันทำลายและบ่อน้ำที่ถูกกลบ โจทก์คงมีตัวโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นที่น่าเชื่อถือมายืนยันความเสียหายแต่ละรายการ ทั้งตามภาพถ่ายหมาย จ.13 และ จ.14ปรากฏว่ามีเสารั้วคอนกรีตล้มอยู่ 6 ถึง 7 ต้น เท่านั้นนอกนั้นเป็นเสาไม้เก่า ๆ 2 ถึง 3 ต้น ส่วนต้นมะรุมที่เสียหายนั้นโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เสียหายเพียง 3 ต้น ดังนี้ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้ตามศาลชั้นต้นจึงสูงเกินไปเห็นควรกำหนดค่าเสียหายสำหรับเสารั้วลวดหนามคอนกรีตให้ 2,500 บาท สำหรับต้นไม้ที่ถูกโค่นทำลาย 5,000 บาทและค่าบ่อน้ำที่ถูกไถกลบ 500 บาท รวมแล้วจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิ้น 8,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่พิพาทไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น 8,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share