คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641-1642/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มอบหมายให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนเรือขนส่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการขนส่งทางทะเลและท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 รับผิดชอบความปลอดภัยของเรือที่รับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งก่อนทำสัญญากับผู้รับขนส่ง โจทก์ต้องตรวจเรือที่มารับขนส่งให้ได้มาตรฐานเสียก่อน โดยจำเลยที่ 1 มีนโยบายให้ตรวจปีละครั้งโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ป. ซึ่งนำเรือมารับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันในท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 ทำให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เสียความเชื่อถือในการให้บริการท่าเทียบเรือ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1 (6) ของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า “เสนอหรือรับของมีค่าหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการบรรจุเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ การประมูลการเช่า การทำสัญญาหรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยมิชอบผู้อื่น” เป็นความผิดซึ่งนับเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าบำเหน็จ เงินรางวัลการปฏิบัติงานประจำปี 2545 และค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 12,538,549 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 917,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 สินจ้างแทนการบอกกล่าวงล่วงหน้าจำนวน 82,586.79 บาท เงินบำเหน็จจำนวน 943,393 บาท เงินโบนัสจำนวน 85,763 บาท และค่าเสียหายที่เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 1,009,393 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งวิศวกรใหญ่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 91,763 บาท กำหนดจ่ายค่างจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ต่อมาปี 2539 โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนเรือขนส่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการขนส่งทางทะเลและท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 มีความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของเรือที่ขนส่งน้ำมันมายังจำเลยที่ 1 ซึ่งมี 4 บริษัทคือปิโตรไลน์ (1996) จำกัด มีเรือบรรทุกน้ำมันดิบ 5 ลำ ส่วนบริษัทเรืออีก 3 บริษัท มีเรือบรรทุกน้ำมัน บริษัทละ 1 ลำ หรือ 2 ลำ โจทก์ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทปิโตรไลน์ (1996) จำกัด เดือนละ 15,000 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2539 ถึงเดือนมิถุนายน 2544 ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทปิโตรไลน์ (1996) จำกัด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า การที่โจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทปิโตรไลน์ (1996) จำกัด เดือนละ 15,000 บาท เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ล.6 ข้อ 8.1 (6) ระบุว่า “เสนอหรือรับของมีค่าหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการบรรจุเข้าทำงาน ตำแหน่งที่ การประมูล การเช่า การทำสัญญาหรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยมิชอบแก่ผู้อื่น” เป็นความผิด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนเรือขนส่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการขนส่งทางทะเลและท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 รับผิดชอบความปลอดภัยของเรือที่รับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งก่อนทำสัญญากับผู้รับขนส่ง โจทก์ต้องตรวจเรือที่มารับขนส่งให้ได้มาตรฐานเสียก่อน โดยจำเลยที่ 1 มีนโยบายให้ตรวจปีละครั้งโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการขนส่ง และเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาเดือนละ 15,000 บาท จากบริษัทปิโตรไลน์ (1996) จำกัด ซึ่งนำเรือมารับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันในท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 ทำให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เสียความเชื่อถือในการให้บริการท่าเทียบเรือ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1 (6) ของจำเลยที่ 1 ซึ่งนับเป็นกรณีร้ายแรง ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อสองว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์รับเงินเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัทปิโตรไลน์ (1996) จำกัด เดือนละ 15,000 บาท นั้น เป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงจำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
ส่วนอุทธรณ์ข้อที่สามของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเงินโบนัสจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด พิเคราะห์ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.6 ข้อ 6.8 ระบุว่า “พนักงานที่ทำงานจนครบเกษียณอายุสามัญและพนักงานที่ออกจากงาน เมื่อทำงานมาแล้ว 5 ปี ขึ้นไป มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จในจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุงาน ยกเว้นพนักงานที่ถูกไล่ออกเนื่องจากทำความผิดร้ายแรง” เมื่อปรากฏว่า โจทก์กระทำความผิดในกรณีร้ายแรงดังที่กล่าวมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ 1 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.6 ข้อ 4.3 หมวดเงินได้อื่น ข้อที่ว่าด้วยเงินวินัยการปฏิบัติงานระบุว่า “พนักงานทุกคนได้รับเงินวินัยปฏิบัติงานประจำปีมูลค่าปีละ 1 เท่าของเงินเดือนมูลฐานถ้าปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขในการปฏิบัติงานสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนดและมีความประพฤติดีตลอดรอบปี” โจทก์ปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 1 โดยสม่ำเสมอตลอดทั้งปี แต่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรงย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีตลอดรอบปี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินวินัย (เงินโบนัส) จากจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง โดยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจกท์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ต่อศาลแรงงานกลางพร้อมกับยื่นอุทธรณ์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินใดๆ ให้แก่โจทก์ตามฟ้องดังได้วินิจฉัยมา อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกอุทธรณ์ของโจทก์

Share