คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอลงชื่อร่วมในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสและขอค่าอุปการะเลี้ยงดู ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องการตกลงหย่าขาดและแบ่งสินสมรส ศาลพิพากษาตามยอม ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวโจทก์และจำเลยตัองปฏิบัติดังนี้ ข้อ 1 จำเลยต้องขายที่ดินสองแปลงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แล้วนำเงินที่หักค่าใช้จ่ายมาชำระให้แก่โจทก์ ข้อ 2 จำเลยตกลงโอนที่ดิน 5 โฉนดให้แก่โจทก์ ข้อ 3 ที่ดินนอกจากนี้ให้เป็นของจำเลยข้อ 4 โจทก์จำเลยตกลงหย่ากัน เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามข้อ 1 และได้รับโอนตามข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยยังจำหน่ายที่ดินตามข้อ 1 ไม่ได้ และระยะเวลา 6 เดือนที่กำหนดไว้ผ่านไปแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ครบถ้วน สถานภาพของการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย ยังคงมีผลตามกฎหมาย คู่สมรสคงต้องมีภาระหน้าที่รับผิดต่อบุคคลภายนอกหรืออาจได้รับความเสียหายจากการจัดการสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินสินสมรส ชอบที่โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียวและจัดการแยกสินสมรส จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและเป็นคนละประเด็นกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจจัดการแยกสินสมรสได้ และให้หนี้สินที่จำเลยก่อขึ้นโดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมไม่ผูกพันโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนคำร้องของจำเลยซึ่งขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2544 ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 3.1 ระบุว่า จำเลยนำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดิน 16 แปลง แล้วโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อจำเลยพียงผู้เดียว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 806/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 976/2543 ปรากฏว่ามีการประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 3 ดังนี้ เห็นว่า เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ชอบที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้ดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการสั่งรับฟ้องไว้โดยผิดหลงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ และสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีโจทก์จากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอทุธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้ยกคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2544 โดยให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วดำเนินการต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอลงชื่อร่วมในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสและขอค่าอุปการะเลี้ยงดูตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมามีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารฟ้องหมายเลข 3 และศาลพิพากษาตามยอม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องการตกลงหย่าขาดและแบ่งทรัพย์สินกันซึ่งพอแปลได้ว่าเป็นการตกลงแบ่งสินสมรสโดยมีข้อสัญญาว่าคู่กรณีไม่เรียกร้องใดๆ ต่อกันอีกแต่ตามข้อสัญญาก็มีข้อกำหนดในการไปจดทะเบียนหย่าว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อ 1 คือการขายที่ดินตามที่ได้ตกลง 2 แปลง แล้วนำเงินที่หักค่าใช้จ่ายมาชำระให้แก่โจทก์ก่อน โดยจะดำเนินการขายให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ข้อ 2 จำเลยตกลงโอนที่ดิน 5 โฉนดให้แก่โจทก์ ข้อ 3 ที่ดินนอกจากนี้ให้เป็นของจำเลย ข้อ 4 โจทก์ จำเลยตกลงหย่ากัน เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามข้อ 1 และได้รับโอนตามข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าที่ดินยังจำหน่ายไม่ได้และระยะเวลา 6 เดือน ที่กำหนดให้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จนั้นก็ผ่านไปแล้ว ซึ่งจำเลยก็รับในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาลงวันที่ 3 ธันวาคม 2545 ว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้อ 1 นี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ครบถ้วน สถานะภาพของการสมรสระหว่างโจทก์ จำเลยยังคงมีผลตามกฎหมาย คู่สมรสคงต้องมีภาวะหน้าที่รับผิดต่อบุคคลภายนอก หรืออาจได้รับความเสียหายจากการจัดการสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินสินสมรส ชอบที่โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการสมรสฝ่ายเดียวและจัดการแยกสินรสได้ จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและเป็นคนละประเด็นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share