แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วัดโจทก์จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 ก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505ใช้บังคับ กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทรศก 121 การจะสร้างวัดขึ้นใหม่ตามกฎหมายดังกล่าวนี้จะต้องมีการขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างเสียก่อนจึงจะสร้างได้ แต่วัดโจทก์นี้ราษฎรพร้อมใจกันจัดสร้างขึ้นโดยไม่มีการขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้าง จึงเป็นการสร้างวัดขึ้นใหม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งกฎหมายดังกล่าว และไม่มีสภาพเป็นวัดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่งกฎหมายฉบับนั้น เพราะฉะนั้นที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่ามีผู้ยกให้ จึงไม่ใช่สมบัติของวัดอันจะถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ วัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2482 ได้มีราษฎรประชุมกันจัดสร้างวัดโจทก์ขึ้นมีผู้บริจาคที่ดินให้เนื้อที่ 6 ไร่ ต่อมา พ.ศ. 2520 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ออก น.ส.3 ทับที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ขอให้เพิกถอน น.ส.3และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ซื้อจากนางเสริญ จำเลยขอออก น.ส.3 ไม่มีผู้ใดคัดค้าน วัดโจทก์ไม่เป็นวัดตามกฎหมาย ที่พิพาทจึงไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วัดโจทก์ไม่ใช่วัดที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและที่พิพาทเป็นของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า วัดโจทก์เป็นวัดตามกฎหมายและที่พิพาทเป็นของวัดโจทก์ พิพากษากลับให้เพิกถอน น.ส.3 เฉพาะส่วน 6 ไร่ ของจำเลยกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ราษฎรได้พร้อมใจกันสร้างวัดโจทก์ขึ้นในที่พิพาทเมื่อ พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ใช้บังคับ กรณีจึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก 121 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ตามกฎหมายดังกล่าว มาตรา 5 กำหนดว่าวัดมี 3 อย่างคือพระอารามหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างอย่างหนึ่ง อารามราษฎร์ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อย่างหนึ่ง และมีสำนักสงฆ์อีกอย่างหนึ่งและมาตรา 9 แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าผู้ใดจะสร้างวัดขึ้นใหม่ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาตรานี้ก่อน จึงจะสร้างขึ้นได้ และในการขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และได้รับการพิจารณาจากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติบังคับไว้ด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความแต่เพียงว่า ราษฎรประชุมพร้อมใจสร้างวัดโจทก์กันขึ้นเองในที่พิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้มีการขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้าง จึงเป็นการสร้างวัดขึ้นใหม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น วัดโจทก์ที่สร้างขึ้นเองในที่พิพาทจึงไม่มีสภาพเป็นวัดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ต่อมาวัดโจทก์จะมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนวัดสำนักสงฆ์ตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ไม่มีผลทำให้กลับกลายสภาพเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ เมื่อวัดโจทก์ที่สร้างกันขึ้นเองในที่พิพาทไม่มีสภาพเป็นวัดแล้วที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่ามีผู้ยกให้เป็นที่สร้างวัดจึงไม่ใช่สมบัติของวัดอันจะถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ วัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาท
พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์